Faculty of Archaeology’s Courses

การเรียนการสอนของคณะโบราณคดี

คณะโบราณคดีจัดการเรียนการสอนทั้งในระดับปริญญาตรี โท และเอก มีทั้งหมด 17 หลักสูตร สามารถแบ่งได้เป็น 2 สาย คือ สายวัฒนธรรม และสายภาษา โดยสายวัฒนธรรมประกอบด้วย โบราณคดี ประวัติศาสตร์ศิลปะ มานุษยวิทยา และประวัติศาสตร์ท้องถิ่น ส่วนสายภาษาประกอบด้วย ภาษาไทย ภาษาอังกฤษ ภาษาฝรั่งเศส ภาษาสันสกฤต จารึกภาษาไทยและภาษาตะวันออก

วิชาของคณะโบราณคดีที่เปิดสอนมีความหลากหลาย ตัวอย่างรายวิชาในสายวัฒนธรรมเช่น ประวัติศาสตร์ศิลปะในประเทศไทยโดยสังเขป ศาสนา ไสยศาสตร์และพิธีกรรม มานุษยวิทยาเบื้องต้น มานุษยวิทยาภาพยนตร์ และมานุษยวิทยาอำนาจ  โบราณคดีเบื้องต้น โบราณคดีสมัยประวัติศาสตร์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พิพิธภัณฑสถานวิทยา ส่วนตัวอย่างรายวิชาในสายภาษา เช่น ภาษากับความคิด ภาษาอังกฤษผ่านสื่อดิจิทัล การจัดการทางวัฒนธรรมในประเทศฝรั่งเศส จุดมุ่งหมายของแต่ละสาขาคือ นักศึกษาสามารถเข้าใจความหลากหลายทางวัฒนธรรม โดยอาจจะผ่านการศึกษาแหล่งโบราณคดี งานศิลปกรรม ชุมชน วรรณกรรม หรือภาษาที่ใช้ในการสื่อ นอกจากนี้ยังส่งเสริมให้นักศึกษารู้จักคิดวิเคราะห์ รวมถึงมีความเท่าทันโลก และรู้จักปรับตัว ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญในการทำงาน และอยู่ร่วมกันในสังคม

Department of Local History

หมวดวิชาประวัติศาสตร์ก่อตั้งและเปิดการเรียนการสอนวิชาโทประวัติศาสตร์ของคณะโบราณคดีมาเป็นเวลาเกือบ 40 ปีด้วยการพัฒนาหลักสูตรที่เริ่มจากการสอนวิชาประวัติศาสตร์ไทย สากลและเอเชีย และในช่วง 20 ปีหลังโดยเฉพาะช่วง 10 ปีที่ผ่านมานี้หมวดวิชาฯได้ปรับการเรียนการสอนมาเน้นประวัติศาสตร์ไทยและประวัติศาสตร์ท้องถิ่นมากขึ้น และเปิดหลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิตวิชาเอกสาขาประวัติศาสตร์ท้องถิ่นขึ้นใน พ.ศ. 2559 ตลอดระยะเวลาสี่ทศวรรษหมวดวิชามีพัฒนาการและการเปลี่ยนแปลงมาโดยลำดับด้วยภารกิจทั้งการเรียนการสอน การศึกษาวิจัย การให้บริการทางวิชาการแก่ชุมชนและการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม

ทศวรรษแรก  พ.ศ. 2520-2530 ยุคก่อร่าง

วิชาประวัติศาสตร์หลายรายวิชาที่เปิดสอนในคณะโบราณคดีช่วงก่อน พ.ศ. 2520 มี ผศ. พันธุ์ทิพย์ พันธุ์คำเป็นผู้สอนหลัก ต่อมาในปีการศึกษา 2521 มีการรับอาจารย์สุภาภรณ์  ตัณศลารักษ์ (จินดามณีโรจน์) เข้ามา จึงเปิดการเรียนการสอนวิชาโทประวัติศาสตร์ขึ้น โดยเปิดสอนประวัติศาสตร์ซึ่งแบ่งออกเป็น 4 กลุ่มวิชา ได้แก่ กลุ่มวิชาประวัติศาสตร์ไทย วิชาประวัติศาสตร์เอเชีย วิชาประวัติศาสตร์ตะวันออกกลาง และ วิชาประวัติศาสตร์ตะวันตก และต่อมา หมวดฯ รับอาจารย์พจนา ฤทธิรงค์ เข้ามาเป็นอาจารย์ด้วย

ในช่วงปลายทศวรรษแรกนี้คือราว พ.ศ. 2528- 2529 มหาวิทยาลัยศิลปากรนำโดยรองศาสตราจารย์อนุวิทย์ เจริญศุภกุลรองอธิการบดีในขณะนั้นสนับสนุนให้มีโครงการวิจัยภูมิภาคตะวันตกบริเวณลุ่มน้ำท่าจีนในลักษณะสหสาขาวิชา อาจารย์สุภาภรณ์ ตัณศลารักษ์ได้เข้าร่วมโครงการและนำเสนอการทำวิจัยประวัติศาสตร์สังคมของชุมชนในลุ่มน้ำท่าจีนนับเป็นงานวิจัยประวัติศาสตร์ท้องถิ่นเป็นชิ้นแรกของคณะโบราณคดีและของมหาวิทยาลัยศิลปากร ทำให้หมวดวิชาฯ เริ่มเห็น ความสำคัญของการศึกษาประวัติศาตร์ท้องถิ่นโดยเฉพาะเรื่องราวของชุมชนและท้องถิ่นมากขึ้น หมวดวิชาฯ จึงเพิ่มรายวิชาประวัติศาสตร์ท้องถิ่น (ประวัติศาสตร์ท้องถิ่นภูมิภาค) ในกลุ่มประวัติศาสตร์ไทย

ทศวรรษที่สอง พ.ศ. 2531-2540 ยุคแห่งการเข้าถึง

ในทศวรรษที่สองนี้หมวดวิชาฯ เพิ่มรายวิชาประวัติศาสตร์ท้องถิ่น (ซึ่งเน้นการเรียนประวัติศาสตร์ท้องถิ่นแบบภูมิภาค คือ ภาคเหนือ ภาคใต้และภาคอีสาน) ในกลุ่มประวัติศาสตร์ไทย ถือเป็นการเปิดรายวิชานี้เป็นที่แรกในมหาวิทยาลัยศิลปากรและในประเทศก็ว่าได้ นอกจากนี้หมวดวิชาฯได้ตระหนักและนำความรู้ที่หลากหลายสาขาทั้งโบราณคดี ประวัติศาสตร์ศิลปะ ภาษาตะวันออกและมานุษยวิทยามาบูรณาการเปิดรายวิชาประวัติศาสตร์ไทยโบราณที่ศึกษาพัฒนาการดินแดนประเทศไทยทุกภาคก่อนพุทธศตวรรษที่ 20 ซึ่งระยะนั้นการเรียนการสอนเนื้อหาและลักษณะการเรียนเช่นรายวิชานี้ยังไม่มีในคณะโบราณคดี ในมหาวิทยาลัยและการเรียนการสอนประวัติศาสตร์ที่สถาบันอื่น ส่วนการเรียนการสอนรายวิชาอื่นๆในกลุ่มวิชาประวัติศาสตร์ไทย รายวิชาในกลุ่มวิชาประวัติศาสตร์เอเชีย วิชาประวัติศาสตร์ตะวันออกกลาง และ วิชาประวัติศาสตร์ตะวันตกยังคงมีเช่นเดิม

การเรียนการสอนในช่วงนี้เริ่มให้ความสำคัญกับการศึกษาจากประสบการณ์ตรงและการลงพื้นที่มากขึ้น โดยเฉพาะในรายวิชาประวัติศาสตร์ท้องถิ่น

ทศวรรษที่สาม พ.ศ. 2541-2550 ยุคแห่งการปรับเปลี่ยน

ช่วงทศวรรษนี้เกิดกระแสความตื่นตัวเรื่องการศึกษาและการวิจัยท้องถิ่นขึ้นในสังคมไทยอย่างเห็นได้ชัด ในช่วงนี้หมวดวิชาฯ ดำเนินการปรับปรุงหลักสูตร (หลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต คณะโบราณคดี ฉบับปรับปรุง พ.ศ. 2546) โดยปรับปรุง เปลี่ยนแปลงและแบ่งรายวิชาต่างๆออกเป็น 3 กลุ่มรายวิชา ได้แก่ กลุ่มประวัติศาสตร์ไทย-ท้องถิ่น กลุ่มประวัติศาสตร์เอเชีย และกลุ่มประวัติศาสตร์ตะวันตก โดยเพิ่มการเรียนการสอนเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ท้องถิ่นมากขึ้น เช่น รายวิชาประวัติศาสตร์ท้องถิ่นที่เน้นแนวคิดและวิธีการ ประวัติศาสตร์ท้องถิ่นภูมิภาคต่างๆ เช่น ประวัติศาสตร์ท้องถิ่นภาคเหนือ ประวัติศาสตร์ท้องถิ่นภาคใต้ ประวัติศาสตร์ท้องถิ่นภาคอีสานและประวัติศาสตร์ท้องถิ่นภาคกลาง ตลอดจนรายวิชาประวัติศาสตร์กรุงเทพฯกับการท่องเที่ยวที่ใช้แนวทางศึกษาแบบประวัติศาสตร์ท้องถิ่น

นอกจากนี้หมวดวิชาฯ ยังเล็งเห็นความก้าวหน้าและประโยชน์ของการนำความรู้ประวัติศาสตร์ไทยและประวัติศาสตร์ท้องถิ่นไปประยุกต์ใช้ จึงได้เปิดรายวิชาเพิ่มเติม ได้แก่ การเขียนสารคดีประวัติศาสตร์ และการเขียนคู่มือการท่องเที่ยว

ทศวรรษที่สี่ : พ.ศ. 2551-ถึงปัจจุบัน (2564) ยุคแห่งการต่อยอด

ในการปรับปรุงหลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต ฉบับ พ.ศ. 2554 ที่ต่อเนื่องมาจนถึงทศวรรษที่สี่ ถึงจะมีการเพิ่มการเรียนการสอนประวัติศาสตร์ท้องถิ่นมากขึ้น แต่การเรียนการสอนโดยทั่วไปยังคงให้ความสำคัญกับรายวิชาในกลุ่มต่างๆ ทั้ง 3 กลุ่ม เท่ากัน ซึ่งได้แก่ กลุ่มประวัติศาสตร์ไทย-ท้องถิ่น กลุ่มประวัติศาสตร์เอเชีย และกลุ่มประวัติศาสตร์ตะวันตก เพื่อเอื้อประโยชน์ให้นักศึกษาวิชาโทที่มาจากวิชาเอกหลากหลายสาขาสามารถเลือกศึกษาได้ได้ตามความสนใจ และสามารถศึกษามีความรู้รอบด้าน

อย่างไรก็ตามเดิมหมวดวิชาประวัติศาสตร์มีวิชาบังคับ 2 รายวิชาสำหรับนักศึกษาวิชาโทประวัติศาสตร์ คือ ประวัติศาสตร์ไทยโบราณ และประวัติศาสตร์ท้องถิ่น ต่อมายกเลิกวิชาประวัติศาสตร์ไทยโบราณ จึงเหลือแต่วิชาบังคับเพียงรายวิชาเดียว คือ วิชาประวัติศาสตร์ท้องถิ่น

อย่างไรก็ตามปัจจุบันกระแสการเปลี่ยนแปลงที่ส่งผลกระทบต่อชุมชนและสังคมอย่างรวดเร็วทั้งทางเศรษฐกิจและวัฒนธรรม การศึกษาประวัติศาสตร์ท้องถิ่นกำลังได้รับความสนใจและเป็นช่องทางหนึ่งที่สามารถเสริมสร้างพลังและความเข้มแข็งให้กับชุมชนและสามารถนำไปประยุกต์ใช้เพื่อจัดการทรัพยากรทางวัฒนธรรม โดยเฉพาะการพัฒนาชุมชน การจัดการพิพิธภัณฑ์ และการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนและสร้างสรรค์ หมวดวิชาฯ จึงมีแผนงานที่จะเปิดหลักสูตรวิชาเอกประวัติศาสตร์ท้องถิ่นในระดับปริญญาตรีของคณะโบราณคดีใน พ.ศ. 2559 เพื่อรองรับผู้ที่สนใจการเรียนรู้ท้องถิ่น ที่มุ่งเน้นการศึกษาประวัติศาสตร์ท้องถิ่นอย่างเข้าถึง เข้าใจความหลากหลาย และสามารถนำไปประยุกต์ใช้ แต่การเรียนประวัติศาสตร์ท้องถิ่นเป็นสาขาวิชาเอกนั้นจำเป็นต้องได้รับการเน้นเป็นการเรียนให้รอบรู้โดยต้องศึกษาและเข้าใจประวัติศาสตร์เอเชียและประวัติศาสตร์ตะวันตกด้วย

พ.ศ. 2558 หมวดวิชาประวัติศาสตร์จัดทำหลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาประวัติศาสตร์ท้องถิ่น หลักสูตรใหม่ พ.ศ.2559 หมวดวิชาประวัติศาสตร์ คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร  และเริ่มดำเนินการเปิดใช้หลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาประวัติศาสตร์ท้องถิ่น (หลักสูตรใหม่ พ.ศ. 2559) ตั้งแต่ ปีการศึกษา 2559 ถึง ปีการศึกษา 2563

สรุป หมวดวิชาประวัติศาสตร์ได้ก่อตั้งและเปิดการเรียนการสอนวิชาโทประวัติศาสตร์ของคณะโบราณคดีมาเป็นเวลาเกือบ 40 ปีด้วยการพัฒนาหลักสูตรที่เริ่มจากการสอนวิชาประวัติศาสตร์ไทย สากลและเอเชีย ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมานี้หมวดวิชาฯ ได้ปรับการเรียนการสอนมาเน้นประวัติศาสตร์ไทยและประวัติศาสตร์ท้องถิ่นมากขึ้น และพัฒนาหลักสูตรเป็นหลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต วิชาเอกสาขาประวัติศาสตร์ท้องถิ่นขึ้นใน พ.ศ. 2559 ตลอดระยะเวลาสี่ทศวรรษ หมวดวิชามีพัฒนาการและการเปลี่ยนแปลงมาโดยลำดับ ด้วยภารกิจทั้งการเรียนการสอน การศึกษาวิจัย การให้บริการทางวิชาการแก่ชุมชน และการทำนุบำรุง ศิลปวัฒนธรรม  ต่อมา พ.ศ. 2563 หมวดวิชาประวัติศาสตร์ได้ปรับปรุงหลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาประวัติศาสตร์ท้องถิ่น (หลักสูตรปรับปรุง พ.ศ.2564)  สำหรับการจัดการเรียนการสอน ในปีการศึกษา 2564  ต่อไป

ปัจจุบันหมวดวิชาประวัติศาสตร์มีอาจารย์ประจำหมวดวิชาประวัติศาสตร์ 4 คน ทำหน้าที่รับผิดชอบสอนในรายวิชาเอกประวัติศาสตร์ท้องถิ่น รวมถึงการมีบทบาทในการให้บริการวิชาการและการบำรุงศิลปวัฒนธรรม รวมทั้งการค้นคว้าวิจัยเพื่อความก้าวหน้าพัฒนางานวิชาการด้านประวัติศาสตร์ท้องถิ่น

Department of Art History

ภาควิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ เกิดขึ้นจากการปรับปรุงโครงสร้างหลักสูตรของคณะโบราณคดีเมื่อ พ.ศ. 2517 ที่ได้เปิดสาขาวิชาที่หลากหลายขึ้น ภาควิชาประวัติศาสตร์ศิลปะจึงเป็นการขยายขอบเขตการศึกษาทางด้านโบราณคดีสมัยประวัติศาสตร์ออกมาในแง่การวิเคราะห์ตีความโบราณวัตถุสถานและกินระยะเวลามาจนถึงการศึกษางานช่างและศิลปกรรมในปัจจุบันด้วย

ผู้เป็นหลักในการเรียนการสอนของภาควิชาประวัติศาสตร์ศิลปะตั้งแต่ยุคเริ่มต้น ได้แก่ “ท่านอาจารย์” ศาสตราจารย์ หม่อมเจ้าสุภัทรดิศ ดิศกุล ซึ่งทรงนำทฤษฎีทางประวัติศาสตร์ศิลปะจากต่างประเทศ ได้แก่ อังกฤษและฝรั่งเศสมาเป็นพื้นฐานการเรียนการสอนของภาควิชาฯ โดยจัดให้มีการเรียนประวัติศาสตร์ศิลปะประเทศใกล้เคียง เป็นพื้นฐานก่อนที่จะเรียนศิลปะในประเทศไทยสมัยต่าง ๆ และตามมาด้วยศิลปะในซีกโลกอื่น ๆ

สองทศวรรษแรกของภาควิชาประวัติศาสตร์ศิลปะนั้น เป็นยุคสมัยเริ่มต้นในการปูพื้นฐานการค้นคว้าประวัติศาสตร์ศิลปะอย่างแท้จริง ด้วยมีคณาจารย์ที่สอนและทำงานวิจัยในวิชาประวัติศาสตร์ศิลปะตะวันออก ศิลปะตะวันออกไกล และศิลปะตะวันตก รวมไปถึงวิชาที่สำคัญได้แก่ ประติมานวิทยา เป็นต้น

คณาจารย์ที่สำคัญในยุคแรก ๆ ของภาควิชานอกจากศาสตราจารย์ หม่อมเจ้า สุภัทรดิศ ดิศกุล ได้แก่ ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.สันติ เล็กสุขุม, อาจารย์สมิทธิ ศิริภัทร, รองศาสตราจารย์มาลินี คัมภีรญาณนนท์, ผู้ช่วยศาสตราจารย์สุทธิลักษณ์ ไชยสุต, รองศาสตราจารย์วีรวรรณ มณี, อาจารย์ ดร.จิตติมา อมรพิเชษฐ์กูล

ปี พ.ศ. 2529 ภาควิชาฯ เปิดหลักสูตรในระดับปริญญาโท สาขาวิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ นับเป็นก้าวสำคัญที่ยกระดับการศึกษาค้นคว้าวิจัยจนเป็นที่ยอมรับในวงวิชาการมากขึ้น

และช่วงทศวรรษ 2530 นี้เองที่อาจารย์ในภาควิชาผลิตผลงานวิจัยออกมาเป็นจำนวนมาก เป็นการปูพื้นฐานทฤษฎีทางประวัติศาสตร์ศิลปะที่ผลิบานจากการค้นคว้าของนักปราชญ์รุ่นก่อนหน้า

ตั้งแต่ราว พ.ศ. 2540 เป็นต้นมา แม้ว่าศาสตราจารย์ หม่อมเจ้าสุภัทรดิศ ดิศกุล ทรงประชวร แต่ก็เริ่มมีอาจารย์รุ่นใหม่ ๆ เข้ามาสานต่อและขยายองค์ความรู้การค้นคว้าออกไป ซึ่งหลังจากการสร้างฐานการวิจัยทางประวัติศาสตร์ศิลปะอย่างเป็นระบบแล้ว ก็ยังมีการประยุกต์ใช้ข้อมูลทางประวัติศาสตร์ศิลปะให้เป็นประโยชน์ด้านอื่น ๆ ด้วย เช่น การท่องเที่ยว การอนุรักษ์งานศิลปกรรมโบราณ หรือการสร้างรูปแบบสันนิษฐานของโบราณสถานเพื่อความเข้าใจ

นอกจากนี้ รายวิชาที่เปิดสอนยังมีความหลากหลายมากขึ้น เป็นต้นว่า วิชาศิลปะอิสลาม ศิลปะเอเชียกลาง วัฒนธรรมทางสายตาร่วมสมัย รวมไปถึงการเรียนรู้วิธีปฏิบัติงานภาคสนามเพื่อเก็บข้อมูลศิลปกรรมอย่างเป็นระบบชัดเจน อีกทั้งในระยะนี้มีการกลับมาทบทวนวิธีคิดและค้นคว้ากำหนดอายุทางประวัติศาสตร์ศิลปะโดยนักวิชาการหลายท่าน

ใน พ.ศ. 2548 ได้เปิดหลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาประวัติศาสตร์ศิลปะไทย เพื่อพัฒนาการผลิตบุคคลากรสู่การค้นคว้าระดับปริญญาเอกด้านประวัติศาสตร์ศิลปะ

ปัจจุบัน ภาควิชาประวัติศาสตร์ศิลปะก็ยังคงมุ่งเน้นการค้นคว้าวิจัยอย่างต่อเนื่อง โดยนอกจากจุดประสงค์เพื่อผลิตบัณฑิตที่มีคุณภาพในด้านความรู้ทางประวัติศาสตร์ศิลปะแล้ว ยังสร้างผลงานทางวิชาการเพื่อพัฒนาความรู้ความเข้าใจในด้านนี้ออกมาอย่างไม่ขาดสาย

Department of Anthropology

สาขาวิชามานุษยวิทยา คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร หรือ มานุษยวิทยาวังท่าพระ เป็นสาขาวิชาที่มีจุดมุ่งหมายเพื่อให้ผู้ศึกษามีความรู้ความเข้าใจตนเอง เข้าใจสภาพแวดล้อมของสังคมและจิตใจมนุษย์ ทั้งในสังคมดั้งเดิมและสังคมสมัยใหม่ ตลอดจนให้มีความสามารถในการวิเคราะห์และตัดสินปัญหาได้อย่างมีเหตุผล สาขาวิชานี้มีการก่อร่างสร้างตัวเกิดขึ้นจากการเป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาทางด้านโบราณคดี ที่ต้องทำความเข้าใจมิติทางประวัติศาสตร์ สังคมและวัฒนธรรม โดยเฉพาะสิ่งที่เกี่ยวข้องกับเรื่องราวในอดีตซึ่งเป็นรากเหง้าของความเป็นชาติไทย โดยแบ่งพัฒนาการเป็น 4 ยุค คือ

1. ยุคมานุษยวิทยาโบราณคดี (พ.ศ. 2517)

ในระยะแรกคณะโบราณคดีมีการสอนเฉพาะวิชาโบราณคดี แต่งานศึกษาในเรื่องสังคมวัฒนธรรมก็ปรากฏอยู่แล้ว ต่อมาใน พ.ศ. 2514 เริ่มมีโครงการจัดตั้งภาควิชามานุษยวิทยา จนกระทั่ง พ.ศ. 2517 ได้ก่อตั้งภาควิชามานุษยวิทยาอย่างเป็นทางการในมหาวิทยาลัยศิลปากร วังท่าพระ โดยมีรองศาสตราจารย์ศรีศักร วัลลิโภดม และศาสตราจารย์ปรานี วงษ์เทศ เป็นผู้ริเริ่มวางแนวทางและหลักสูตรภาควิชามานุษยวิทยาที่มีเป้าหมายเพื่อสนับสนุนการศึกษาทางด้านโบราณคดี ซึ่งงานศึกษาทางด้านประวัติศาสตร์และโบราณคดีเป็นลักษณะเด่นของมานุษยวิทยาวังท่าพระในยุคเริ่มต้น เช่น การเปิดวิชามานุษยวิทยามีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาด้านชาติพันธุ์วรรณนา การเก็บข้อมูลของชุมชนทั้งสังคมชาวไร่ชาวนา สังคมของกลุ่มชาติพันธุ์ที่กำลังเปลี่ยนแปลงจากกระแสการพัฒนาประเทศไปสู่ความทันสมัย แต่ระยะเริ่มต้นบุคลากรยังมีน้อย และยังไม่ได้เรียนมาโดยตรง จึงเชิญอาจารย์พิเศษจากภายนอกมาช่วยสอนและพัฒนาบุคลากรในภาควิชามานุษยวิทยา

2. มานุษยวิทยายุคบุกเบิก (คลาสสิค) พ.ศ. 2517-2527 ยุคก่อร่างสร้างภาควิชามานุษยวิทยาวังท่าพระ

แม้ว่าจะเปิดสอนหลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต สาขามานุษยวิทยา และรายวิชาทางด้านมานุษยวิทยาอย่างเต็มรูปแบบ แต่การทำวิทยานิพนธ์ที่เป็นงานทางด้านมานุษยวิทยาที่สังกัดภาควิชามานุษยวิทยาอย่างแท้จริงยังไม่ปรากฏ ส่วนใหญ่จะเป็นวิทยานิพนธ์ที่มีการศึกษาในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับสาขาวิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา ภายใต้ปริญญาศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาโบราณคดี จนกระทั่งในช่วง พ.ศ. 2522-2523 จึงเริ่มมีวิทยานิพนธ์ในสาขามานุษยวิทยาอย่างแท้จริง

3. มานุษยวิทยาช่วง พ.ศ. 2528-2539 ยุคที่เริ่มเปิดหลักสูตรปริญญาโทมานุษยวิทยาวังท่าพระ

หลักสูตรศิลปศาสตรมหาบัณฑิต (มานุษยวิทยา) เริ่มก่อตั้งใน พ.ศ. 2528 โดยในช่วงเริ่มต้นมีเป้าหมายที่จะผลิตบัณฑิตให้ครอบคลุมทั้ง 3 ด้าน คือ มานุษยวิทยาพัฒนาการ มานุษยวิทยาสายโบราณคดีการตั้งถิ่นฐาน และมานุษยวิทยาสายประเพณีการบอกเล่า หรือมานุษยวิทยาสังคมวัฒนธรรม

นอกจากนั้นภาควิชาฯ ยังได้ผลิตอาจารย์จากนักศึกษาระดับปริญญาโทจากสาขามานุษยวิทยา เพื่อสืบทอดเจตนารมณ์และเนื้อหาการเรียนการสอนแบบดั้งเดิมที่เน้นให้ความสำคัญกับงานทางด้านวัฒนธรรม ชาติพันธุ์ และคติชนวิทยาด้วย

4. มานุษยวิทยาแนวหลังสมัยใหม่ พ.ศ. 2540 ถึงปัจจุบัน

การศึกษาหลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิตแม้ว่าจะเน้นในการเรียนสาขามานุษยวิทยาสังคมวัฒนธรรม แต่ในเนื้อหาของการเรียนการสอนก็มุ่งศึกษาและทำความเข้าใจเนื้อหาของมานุษยวิทยาครอบคลุมถึงสาขาอื่น ๆ ทั้งเรื่องเศรษฐกิจ การเมือง มานุษยวิทยากายภาพ เป็นต้น และในแง่งานสารนิพนธ์ของนักศึกษาเริ่มนำเอาทฤษฎีหลังสมัยใหม่มาสอนในรายวิชา และนักศึกษาส่วนหนึ่งได้นำเอาไปใช้เป็นแนวคิดและทฤษฎีในการวิเคราะห์ปรากฏการณ์ทางสังคมที่ตัวเองพัฒนาเป็นหัวข้องานศึกษาในรายวิชาศึกษาค้นคว้าเฉพาะบุคคล

Department of France

นับตั้งแต่คณะโบราณคดีถูกตั้งขึ้นเป็นคณะวิชาหนึ่งของมหาวิทยาลัยศิลปากร และในสมัยศาสตราจารย์หม่อมเจ้าสุภัทรดิศ ดิศกุล เป็นคณบดี ภาษาฝรั่งเศสมีบทบาทเป็นวิชาเลือกวิชาหนึ่ง เพื่อเป็นเครื่องมือใช้อ่านและศึกษาค้นคว้าเอกสารภาษาฝรั่งเศสสำหรับการเรียนวิชาโบราณคดีและประวัติศาสตร์ศิลปะ ซึ่งมีอยู่เป็นจำนวนมาก โดยมีศาสตราจารย์ คุณหญิงไขศรี ศรีอรุณ เป็นผู้รับผิดชอบ

ต่อมาใน พ.ศ. 2517 มีการจัดตั้งสาขาวิชาภาษาฝรั่งเศสเป็นสาขาหนึ่งของภาควิชาภาษาตะวันตก เมื่อคณะได้ปรับปรุงหลักสูตรและมีการแยกเป็น 7 ภาควิชา

หลักสูตรวิชาภาษาฝรั่งเศสในระยะแรกนั้น เน้นหนักรายวิชาที่เกี่ยวกับทักษะการใช้ภาษา (อ่าน ฟัง พูด คิด เขียน) ภาษาศาสตร์ อารยธรรม วรรณคดี การแปล ฯลฯ

ต่อมามีการปรับปรุงหลักสูตรโดยเพิ่มวิชาเลือกที่เปิดโอกาสให้นักศึกษาเข้าสู่อาชีพได้มากขึ้น เช่น วิชาภาษาฝรั่งเศสด้านการท่องเที่ยว ภาษาฝรั่งเศสด้านการโรงแรม ภาษาฝรั่งเศสด้านเลาขานุการ ภาษาฝรั่งเศสด้านการสอน ภาษาฝรั่งเศสด้านศิลปะ เป็นต้น

และใน พ.ศ. 2549 – 2550 สาขาวิชาภาษาฝรั่งเศสเปิดหลักสูตรศิลปศาสตร มหาบัณฑิต สาขาวิชาภาษาฝรั่งเศสเพื่อการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม (Master of Arts in French for Cultural Tourism) โดยได้รับการสนับสนุนด้านการประชาสัมพันธ์ ด้านหนังสือ อุปกรณ์การสอนจากสำนักทูตวัฒนธรรมฝรั่งเศส สถานเอกอัครราชทูตฝรั่งเศส ประจำประเทศไทย ซึ่งเมื่อจบการศึกษาแล้วจะได้รับปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิตควบคู่กับประกาศนียบัตรมัคคุเทศก์ ซึ่งออกให้โดยการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา แต่หลังจากเปิดได้รุ่นเดียวก็ต้องระงับการดำเนินการไว้ชั่วคราว เนื่องจากประธานหลักสูตรเกษียณอายุราชการทำให้การบริหารหลักสูตรประสบปัญหาและจำนวนผู้สอนไม่ครบตามเกณฑ์ของสำนักงานกรรมการอุดมศึกษา (สกอ.)

หลังปี 2550 มีการปรับปรุงหลักสูตรให้หลากหลายยิ่งขึ้น เช่น จัดให้หมวดวรรณคดีเป็นหมวดวิชาเลือกร่วมกับหมวดวิชาภาษาศาสตร์ ในปีการศึกษา 2554

ปัจจุบันสาขาภาษาฝรั่งเศส มีการสอนภาษาฝรั่งเศสเฉพาะด้านที่เป็นลักษณะเฉพาะของคณะโบราณคดี เช่น ภาษาฝรั่งเศสด้านวิจิตรศิลป์ ศิลปะไทย ศิลปะเอเชียอาคเนย์ การจัดการด้านวัฒนธรรม เป็นต้น เพื่อให้ผู้เรียนมีความรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมไทย รวมทั้งความสัมพันธ์ระหว่างไทย-ฝรั่งเศส เกิดการศึกษาเชิงเปรียบเทียบ และนำมาสร้างสรรค์เพื่อปรับใช้ได้อย่างเหมาะสมในสังคมไทย

Department of English

ก่อนการแบ่งเป็น 7 ภาควิชาใน พ.ศ. 2517 การเรียนการสอนภาษาตะวันตกเริ่มปรากฎมาตั้งแต่ในช่วงแรกของหลักสูตรคณะโบราณคดีแล้ว ภาษาอังกฤษและฝรั่งเศสมีฐานะเป็นวิชาเลือก เพื่อเป็นเครื่องมือของการเรียนวิชาโบราณคดีและประวัติศาสตร์ศิลปะในการอ่านศึกษาค้นคว้าเอกสารที่เป็นภาษาอังกฤษและฝรั่งเศส ซึ่งมีอยู่เป็นจำนวนมาก

จนกระทั่งในปีการศึกษา 2517 หลักสูตรของคณะโบราณคดีมีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ ภาควิชาภาษาตะวันตกซึ่งประกอบไปด้วย สาขาวิชาภาษาอังกฤษ และสาขาวิชาภาษาฝรั่งเศส ได้ถือกำเนิดขึ้น

จุดประสงค์และเอกลักษณ์ในการเรียนการสอนของภาควิชาตะวันตก มีจุดมุ่งหมายเพื่อฝึกฝนทักษะต่าง ๆ ให้มีความชำนาญพอที่จะนำไปใช้หรือประยุกต์ในการประกอบอาชีพหรือดำรงชีวิตในสังคม ให้เรียนรู้แนวความคิดที่แฝงอยู่ในวรรณคดี ศิลปะ หรือปรัชญาของเจ้าของภาษา

สาขาวิชาภาษาอังกฤษจัดตั้งขึ้นอย่างเป็นทางการใน พ.ศ. 2517 คือสาขาหนึ่งของภาควิชาภาษาตะวันตก เป็นสาขาวิชาที่มีจุดมุ่งหมายเพื่อฝึกทักษะภาษาอังกฤษ ด้านการอ่าน การฟัง การพูด และการเขียน ให้มีความชำนาญเพื่อนำไปใช้ หรือประยุกต์ในการประกอบอาชีพ หรือดำรงชีวิตในสังคม นอกจากนี้ยังให้เรียนรู้แนวความคิดที่แฝงอยู่ในวรรณคดี ศิลปะ หรือปรัชญาของเจ้าของภาษา

ห้องเรียนและห้องปฏิบัติการทางภาษา (Language Lab) ราวพ.ศ. 2519-2521

ใน พ.ศ. 2521 เมื่อตึกคณะแห่งใหม่สร้างเสร็จ อาจารย์พรพิมล เสนะวงศ์ ได้เล่าว่า พื้นที่ใช้สอยของอาคารมีน้อยกว่าที่วางแผนไว้มากทำให้จำเป็นต้องมีการต่อเติมเปลี่ยนแปลงพื้นที่ระเบียงในบางชั้นเป็นห้องเรียน หรือห้องพักอาจารย์ รวมทั้งพื้นที่ส่วนหนึ่งที่ออกแบบไว้เป็นห้องปฏิบัติการทางภาษาหรือห้อง Lab ภาษาอังกฤษก็ยังเป็นเพียงห้องโล่งๆ จนได้รับการปรับปรุงแล้วเสร็จใน พ.ศ. 2522 ผ่านการปรับปรุงภายในอาคาร ปรับปรุงห้องปฏิบัติการทางภาษา และต่อเติมดาดฟ้าของอาคารคณะโบราณคดีใน พ.ศ. 2523

สาขาวิชาภาษาอังกฤษในปัจจุบัน  สาขาวิชาภาษาอังกฤษ ภาควิชาภาษาตะวันตก เปิดการเรียนการสอนระดับปริญญาตรี โดยมีการปรับปรุงหลักสูตรมาอย่างต่อเนื่อง  โดยในปีการศึกษา 2564 สาขาจะเริ่มใช้หลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต ฉบับปรับปรุง พ.ศ.2564 ซึ่งมีเนื้อหาสาระที่ปรับให้เหมาะสมกับความเป็นไปในยุคปัจจุบัน พร้อมกันนั้นก็ยังคงอัตลักษณ์ความเป็นคณะโบราณคดีไว้อีกด้วย

Department of Eastern Languages

ภาควิชาภาษาตะวันออก คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร เป็นภาควิชาเดียวในประเทศไทยที่จัดการเรียนการสอนวิชาภาษาไทยเพื่อการอ่านจารึกและอักษรโบราณ ทั้งในระดับปริญญาตรีและปริญญาโท รวมทั้งเปิดสอนวิชาภาษาสันสกฤต และภาษาเขมรตั้งแต่ระดับปริญญาตรีจนถึงปริญญาเอก และเปิดสอนวิชาภาษาฮินดีเป็นวิชาโทในหลักสูตรสาขาวิชาภาษาตะวันออก

นอกจากนี้ยังได้จัดตั้งศูนย์สันสกฤตศึกษาเพื่อจัดกิจกรรมทางวิชาการเป็นศูนย์ข้อมูล และร่วมมือกับสถาบันการศึกษานานาชาติ ซึ่งศึกษาวิจัยภาษาสันสกฤตและภาษาอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องอีกด้วย ในปัจจุบันศูนย์สันสกฤตศึกษามีฐานะเป็นหน่วยงานเทียบเท่าภาควิชาสังกัดคณะโบราณคดีโดยมีอาจารย์ด้านภาษาสันสกฤตของภาควิชาภาษาตะวันออกเป็นผู้ดำเนินงาน

ลำดับเหตุการณ์สำคัญของภาควิชาภาษาตะวันออก

ในปี พ.ศ. 2517 เปิดสอนหลักสูตรปริญญาศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาภาษาไทย และหลักสูตรปริญญาศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาภาษาตะวันออก

ในปี พ.ศ. 2519 เปิดสอนหลักสูตรปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาจารึกภาษาไทย และหลักสูตรปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาจารึกภาษาตะวันออก

ในปี พ.ศ. 2522 ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร. อุไรศรี วรศะริน เป็นผู้ริเริ่มก่อตั้ง “กองทุนสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา” เพื่อเฉลิมพระเกียรติและเป็นพระอนุสรณ์และได้ขยายกองทุนขึ้นเป็น “มูลนิธิสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา”

ในปี พ.ศ. 2530 เปิดสอนหลักสูตรปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาภาษาสันสกฤต

ในปี พ.ศ. 2532 ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร. อุไรศรี วรศะริน เป็นหนึ่งในผู้ริเริ่มแนวคิดในการจัดตั้ง “ศูนย์ข้อมูลเอกสารศิลปะและมานุษยวิทยา” ให้แก่มหาวิทยาลัยศิลปากร ปัจจุบันคือ “ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร”

ในปี พ.ศ. 2536 เปิดสอนหลักสูตรปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาเขมรศึกษา

ในปี พ.ศ. 2539 ก่อตั้งศูนย์สันสกฤตศึกษา ซึ่งเป็นหน่วยงานหนึ่งที่มีภารกิจหลักเพื่อส่งเสริม ให้ความรู้ และจัดการเรียนการสอนภาษาสันสกฤตและวิชาที่เกี่ยวข้องให้แก่นักศึกษาทั้งระดับปริญญาตรี โท และเอก

ในปี พ.ศ. 2541 ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร. อุไรศรี วรศะริน เป็นผู้จัดทำโครงการและวิทยากรนำชมวังหน้าและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร โดยไม่คิดค่าบริการ โครงการนี้ได้รับรางวัล “รายการท่องเที่ยวดีเด่น” ประจำปี 2541 จากการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และภาควิชาภาษาตะวันออก จัดประชุมสันสกฤตนานาชาติว่าด้วยภาษาสันสกฤตในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้: ปัจจัยผสมผสานทางวัฒนธรรม (International Sanskrit Conference on Sanskrit in Southeast Asia: The Harmonizing Factor of Cultures)

ในปี พ.ศ. 2543 เปิดสอนหลักสูตรปริญญาศิลปศาสตรดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาภาษาสันสกฤต ในปี พ.ศ. 2544 เปิดหลักสูตรปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาการจัดการจดหมายเหตุและเอกสาร (มหาบัณฑิต) และเปิดหลักสูตรปริญญาศิลป ศาสตรดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาภาษาเขมร

Department of Archeology

การเรียนการสอนเกี่ยวกับโบราณคดี เป็นส่วนหนึ่งของคณะโบราณคดีมาตั้งแต่การก่อตั้งเมื่อ พ.ศ. 2498 จนกระทั่ง พ.ศ. 2517 มีการปรับปรุงการบริหารงาน จึงได้จัดตั้ง “ภาควิชาโบราณคดี” อย่างเป็นทางการ ซึ่งเป็นภาควิชาแห่งเดียวในประเทศไทย โดยยึดมั่นในปรัชญาที่ว่า “โบราณคดี อนุรักษ์ สืบสาน และต่อยอดมรดกวัฒนธรรมอย่างยั่งยืน”

ภาควิชาวิชาโบราณคดีเป็นสาขาวิชาที่เน้นศึกษาเรื่องราวของมนุษย์ในอดีตโดยศึกษาจากหลักฐานทางโบราณคดีทั้งที่เป็นโบราณวัตถุและโบราณสถาน เพื่อให้เกิดความเข้าใจเรื่องราวของชุมชน ประชากร และวัฒนธรรมที่เป็นเจ้าของ โบราณวัตถุและโบราณสถานเหล่านั้น การเรียนการสอนแบ่งเนื้อหารายวิชาเป็น 2 สาขา คือ โบราณคดียุคก่อนประวัติศาสตร์ หมายถึง อดีตตั้งแต่เริ่มมีมนุษย์จนถึงก่อนการบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษร และโบราณคดียุคประวัติศาสตร์ หมายถึง ช่วงที่มีการบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษรและสามารถอ่านตีความได้

ยุคแรกก่อตั้งภาควิชาโบราณคดี (พ.ศ.2517 – 2527)

การเรียนการสอนในสมัยแรกเริ่มจนกระทั่งมีการปรับปรุงการบริหารงาน ภาควิชาเน้นการผลิตบุคลากรด้านโบราณคดีสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของคณะ ส่งผลให้มีการเรียนการสอนที่เน้นทั้งทฤษฎี และการปฏิบัติงานภาคสนามทาง โบราณคดี ในระยะนี้มีการสำรวจและขุดค้นทางโบราณคดีที่สำคัญ คือ แหล่งโบราณคดีบ้านคูเมือง จังหวัดสิงห์บุรี เมืองโบราณ คูบัว จังหวัดราชบุรี และแหล่งโบราณคดีในพื้นที่ตำบลบ้านเก่า จังหวัดกาญจนบุรี และในช่วงเวลานี้ ภาควิชาโบราณคดีได้จัดการเรียนการสอนหลักสูตรปริญญาโทขึ้น ทั้งในสาขาโบราณคดีสมัยก่อนประวัติศาสตร์ และโบราณคดีสมัยประวัติศาสตร์ อีกด้วย

ยุคที่สองของภาควิชาโบราณคดี (พ.ศ. 2528 – 2538)

การเรียนการสอนด้านโบราณคดีมีความเข้มข้นมากขึ้นเนื่องจากมีบุคลากรจบการศึกษาออกไปหลายรุ่น ทั้งระดับปริญญาตรีและมหาบัณฑิตในระดับปริญญาโท ซึ่งส่วนใหญ่เป็นบุคลากรในกรมศิลปากร ส่งผลให้งานโบราณคดีในสมัยนี้มีความก้าวหน้า เกิดการสำรวจและขุดค้นทางโบราณคดีโดยกรมศิลปากรจำนวนมาก ส่งผลให้มีชุดข้อมูลหลักฐานประกอบการเรียนการสอนเพิ่มมากยิ่งขึ้น การสำรวจและขุดค้นทางโบราณคดีที่สำคัญ เช่น เมืองฟ้าแดดสงยาง จังหวัดกาฬสินธุ์ แหล่งโบราณคดีถ้ำซาไก จังหวัดตรัง แหล่งโบราณคดีถ้ำมอเขียว จังหวัดกระบี่ การศึกษากลุ่มชาติพันธุ์ตองเหลือง

ยุคที่สามของภาควิชาโบราณคดี (พ.ศ. 2539 – 2549)

ในยุคนี้ได้นำเครื่องมือทางวิทยาศาสตร์ใหม่ ๆ เข้ามาประยุกต์ใช้เพื่อวิเคราะห์ และแปลความเรื่องราวทางวัฒนธรรมของมนุษย์ ส่งผลต่อความก้าวหน้าของงานวิจัย และเห็นภาพเรื่องราวสังคมวัฒนธรรมในอดีตได้ชัดเจน อีกทั้งยังเปิดหลักสูตรระดับปริญญาเอก เพื่อขยายขอบเขตการศึกษาให้กว้างขึ้น คณาจารย์และนักศึกษาดำเนินงานสำรวจและขุดค้นทางโบราณคดีที่สำคัญ เช่น แหล่งโบราณคดีบ้านโป่งมะนาว แหล่งโบราณคดีบ้านพรหมทินใต้ และเมืองโบราณซับจำปา จังหวัดลพบุรี แหล่งโบราณคดีเพิงผาบ้านไร่ และเพิงผาถ้ำลอด จังหวัดแม่ฮ่องสอน แหล่งโบราณคดีเขาสามแก้ว จังหวัดชุมพร 

ภาควิชาโบราณคดีใน พ.ศ. 2550 –ปัจจุบัน

        ภาควิชาโบราณคดีเซ็นสัญญาความร่วมมือกับหลายหน่วยงาน สร้างการบูรณาการด้านโบราณคดีกับองค์กรต่าง ๆ และมีงานวิจัยทางโบราณคดีที่น่าสนใจ อาทิ เมืองขีดขิน จังหวัดสระบุรี เมืองนครปฐมโบราณ (แหล่งโบราณคดีธรรมศาลา และแหล่งโบราณคดีหอเอก จังหวัดนครปฐม) โบราณคดีกรุงเทพมหานคร เมืองโบราณอู่ทอง จังหวัด สุพรรณบุรี นอกจากนี้ ผลการศึกษาวิจัยของภาควิชาแต่ละยุคสมัย ได้นำมาต่อยอดผลิตเป็นเอกสารวิชาการและเผยแพร่ผ่านการประชุมวิชาการอย่างต่อเนื่อง เกิดองค์ความรู้เพิ่มขึ้นมากมาย โดยความรู้ต่าง ๆ เหล่านี้ ไม่เพียงเกิดประโยชน์ต่อ บุคลากรในแวดวงโบราณคดีเท่านั้น แต่ยังสร้างความรู้ความเข้าใจในงานโบราณคดีและศิลปวัฒนธรรมแก่บุคคลทั่วไป ซึ่งการทำงานวิชาการควบคู่ไปกับงานบริการสังคมนี้ ถือเป็นอีกหนึ่งในงานหลักของภาควิชาโบราณคดีที่ยังคงมุ่งมั่นพัฒนาสืบต่อไป