Wat Phra Si Rattana Satsadaram

วัดพระศรีรัตนศาสดาราม เมื่อแรกสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์  พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชได้โปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระราชวังที่ฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยาเพื่อเป็นที่ประทับและทรงประกอบพระราชกรณียกิจต่างๆ  ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 4 ได้พระราชทานนามว่า พระบรมมหาราชวัง ประกอบไปด้วยเขตพระราชฐานชั้นนอกซึ่งเป็นสถานที่ราชการต่างๆ  เขตพระราชฐานชั้นกลาง เป็นที่ตั้งของพระที่นั่งและพระมหาปราสาทสำหรับเสด็จออกว่าราชการและการพระราชพิธี  เขตพระราชฐานชั้นใน เป็นหมู่พระที่นั่งที่ประทับของพระมหากษัตริย์ และพระตำหนักของสมเด็จพระอัครมเหสี พระราชเทวี เจ้าจอม และข้าราชบริพารฝ่ายใน  ด้านทิศตะวันออกของพระบรมมหาราชวังยังเป็นที่ตั้งของวัดพระศรีรัตนศาสดาราม หรือ วัดพระแก้วซึ่งเป็นวัดประจำพระบรมมหาราชวังที่ไม่มีพระสงฆ์จำพรรษา ภายในพระอุโบสถเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากรหรือพระแก้วมรกต พระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองของกรุงรัตนโกสินทร์

Wat Arun Ratchawararam

วัดอรุณราชวราราม เป็นวัดเก่าแก่มีมาตั้งแต่สมัยอยุธยา ได้รับการบูรณะมาหลายยุคสมัยจนกระทั่งปัจจุบัน งานสถาปัตยกรรมที่สำคัญของวัดแห่งนี้คือ พระปรางค์ประธาน โดยมีการบูรณะและการขยายขนาดพระปรางค์ในสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี รัชกาลที่ 2-3 โดยรูปแบบของพระปรางค์ที่ปรากฏในปัจจุบันเป็นงานบูรณะในสมัยรัชกาลที่ 3 พระปรางค์องค์นี้เป็นตัวแทนแนวคิดการออกแบบศาสนสถานโดยจำลองจากคติจักรวาลที่เชื่อถือกันในพุทธศาสนาแบบเถรวาท พระปรางค์ประธานแทนเขาพระสุเมรุ ซึ่งเป็นแกนกลางจักวาล ส่วนประติมากรรมที่ประดิษฐานภายในซุ้มจระนำของพระปรางค์ประธานทั้ง 4 ด้าน เป็นรูปบุคคลแต่งกายแบบเทวดาอย่างไทย และทรงช้าง ลักษณะดังกล่าวหมายถึงพระอินทร์ ซึ่งเป็นประธานของสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ที่อยู่บนเขาพระสุเมรุ

Wat Mahathat Yuwararangsarit

วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ราชวรมหาวิหาร เป็นวัดเก่าแก่ที่สร้างขึ้นในสมัยอยุธยา เดิมชื่อว่า “วัดดีสลัก” เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช (รัชกาลที่ 1) สถาปนากรุงรัตนโกสินทร์เป็นราชธานี วัดแห่งนี้ได้รับการบูรณะปฏิสังขรณ์ครั้งใหญ่โดยพระราชวังบวรสถานมงคล สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท และทรงเปลี่ยนชื่อวัดดังกล่าวเป็นวัดนิพพานาราม ต่อมา รัชกาลที่ 1 เปลี่ยนนามวัดแห่งนี้อีก 2 ครั้ง ได้แก่ “วัดพระศรีสรรเพชญ” และ “วัดพระศรีรัตนมหาธาตุราชวรมหาวิหาร” ตามลำดับ ส่วนนามวัดในปัจจุบันนั้นได้รับพระราชทานในสมัยรัชกาลที่ 5 ภายในวัด มีงานศิลปกรรมไทยที่ทรงคุณค่า อาทิ พระพุทธรูปประธานในพระอุโบสถ ซึ่งมีพระนามว่า “พระศรีสรรเพชญ์” ตามประวัติกล่าวว่า สร้างขึ้นโดย สมเด็จฯ กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท โปรดเกล้าฯ ให้พระยาเทวารังสรรค์ ช่างวังหน้าเป็นผู้ปั้นขึ้น นอกจากนี้ งานสถาปัตยกรรม อาทิ พระมณฑป พระปรางค์ เป็นตัวอย่างของงานช่างไทยประเพณีที่สำคัญเช่นกัน

Phannarai Building

ตึกพรรณราย

พ.ศ. 2507 มหาวิทยาลัยศิลปากร ขยายพื้นที่การเรียนการสอนเพิ่มเติมจากบริเวณวังกลางและวังตะวันออก เข้ามาใช้พื้นที่บริเวณ “วังท่าพระ” เป็นสถานศึกษา คณะโบราณคดีจึงย้ายมาจัดการเรียนการสอน ที่อาคาร 2 หลังของวังท่าพระ คือตำหนักพรรณราย และตำหนักใหญ่

อาจารย์ผู้สอนในช่วงแรกของคณะโบราณคดี มีฐานะเป็นลูกจ้างของมหาวิทยาลัย หรือเป็นข้าราชการในกรมศิลปากร เช่น ชิน อยู่ดี ผู้สอนวิชาโบราณคดีสมัยก่อนประวัติศาสตร์ บังเอิญ มาประณีต, ปรีชา กาญจนาคม, พเยาว์ อัศวเดชา, ศรีศักด์ วัลลิโภดม, พันธุ์ทิพย์ ณ สงขลา, สุทธิลักษณ์ ไชยสุต และมนตรี อุมะวิชนี เป็นต้น คณาจารณ์เหล่านี้เป็นผู้บุกเบิกยุคเริ่มต้นของคณะโบราณคดี บางท่านได้ไปศึกษาต่อในสาขาเฉพาะทางและกลับมาเป็นอาจารย์ รวมถึงเป็นผู้วางรากฐานแนวทางพัฒนาไปเป็นสาขาภาควิชาต่าง ๆ