สาขาวิชามานุษยวิทยา คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร หรือ มานุษยวิทยาวังท่าพระ เป็นสาขาวิชาที่มีจุดมุ่งหมายเพื่อให้ผู้ศึกษามีความรู้ความเข้าใจตนเอง เข้าใจสภาพแวดล้อมของสังคมและจิตใจมนุษย์ ทั้งในสังคมดั้งเดิมและสังคมสมัยใหม่ ตลอดจนให้มีความสามารถในการวิเคราะห์และตัดสินปัญหาได้อย่างมีเหตุผล สาขาวิชานี้มีการก่อร่างสร้างตัวเกิดขึ้นจากการเป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาทางด้านโบราณคดี ที่ต้องทำความเข้าใจมิติทางประวัติศาสตร์ สังคมและวัฒนธรรม โดยเฉพาะสิ่งที่เกี่ยวข้องกับเรื่องราวในอดีตซึ่งเป็นรากเหง้าของความเป็นชาติไทย โดยแบ่งพัฒนาการเป็น 4 ยุค คือ
1. ยุคมานุษยวิทยาโบราณคดี (พ.ศ. 2517)
ในระยะแรกคณะโบราณคดีมีการสอนเฉพาะวิชาโบราณคดี แต่งานศึกษาในเรื่องสังคมวัฒนธรรมก็ปรากฏอยู่แล้ว ต่อมาใน พ.ศ. 2514 เริ่มมีโครงการจัดตั้งภาควิชามานุษยวิทยา จนกระทั่ง พ.ศ. 2517 ได้ก่อตั้งภาควิชามานุษยวิทยาอย่างเป็นทางการในมหาวิทยาลัยศิลปากร วังท่าพระ โดยมีรองศาสตราจารย์ศรีศักร วัลลิโภดม และศาสตราจารย์ปรานี วงษ์เทศ เป็นผู้ริเริ่มวางแนวทางและหลักสูตรภาควิชามานุษยวิทยาที่มีเป้าหมายเพื่อสนับสนุนการศึกษาทางด้านโบราณคดี ซึ่งงานศึกษาทางด้านประวัติศาสตร์และโบราณคดีเป็นลักษณะเด่นของมานุษยวิทยาวังท่าพระในยุคเริ่มต้น เช่น การเปิดวิชามานุษยวิทยามีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาด้านชาติพันธุ์วรรณนา การเก็บข้อมูลของชุมชนทั้งสังคมชาวไร่ชาวนา สังคมของกลุ่มชาติพันธุ์ที่กำลังเปลี่ยนแปลงจากกระแสการพัฒนาประเทศไปสู่ความทันสมัย แต่ระยะเริ่มต้นบุคลากรยังมีน้อย และยังไม่ได้เรียนมาโดยตรง จึงเชิญอาจารย์พิเศษจากภายนอกมาช่วยสอนและพัฒนาบุคลากรในภาควิชามานุษยวิทยา
2. มานุษยวิทยายุคบุกเบิก (คลาสสิค) พ.ศ. 2517-2527 ยุคก่อร่างสร้างภาควิชามานุษยวิทยาวังท่าพระ
แม้ว่าจะเปิดสอนหลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต สาขามานุษยวิทยา และรายวิชาทางด้านมานุษยวิทยาอย่างเต็มรูปแบบ แต่การทำวิทยานิพนธ์ที่เป็นงานทางด้านมานุษยวิทยาที่สังกัดภาควิชามานุษยวิทยาอย่างแท้จริงยังไม่ปรากฏ ส่วนใหญ่จะเป็นวิทยานิพนธ์ที่มีการศึกษาในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับสาขาวิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา ภายใต้ปริญญาศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาโบราณคดี จนกระทั่งในช่วง พ.ศ. 2522-2523 จึงเริ่มมีวิทยานิพนธ์ในสาขามานุษยวิทยาอย่างแท้จริง
3. มานุษยวิทยาช่วง พ.ศ. 2528-2539 ยุคที่เริ่มเปิดหลักสูตรปริญญาโทมานุษยวิทยาวังท่าพระ
หลักสูตรศิลปศาสตรมหาบัณฑิต (มานุษยวิทยา) เริ่มก่อตั้งใน พ.ศ. 2528 โดยในช่วงเริ่มต้นมีเป้าหมายที่จะผลิตบัณฑิตให้ครอบคลุมทั้ง 3 ด้าน คือ มานุษยวิทยาพัฒนาการ มานุษยวิทยาสายโบราณคดีการตั้งถิ่นฐาน และมานุษยวิทยาสายประเพณีการบอกเล่า หรือมานุษยวิทยาสังคมวัฒนธรรม
นอกจากนั้นภาควิชาฯ ยังได้ผลิตอาจารย์จากนักศึกษาระดับปริญญาโทจากสาขามานุษยวิทยา เพื่อสืบทอดเจตนารมณ์และเนื้อหาการเรียนการสอนแบบดั้งเดิมที่เน้นให้ความสำคัญกับงานทางด้านวัฒนธรรม ชาติพันธุ์ และคติชนวิทยาด้วย
4. มานุษยวิทยาแนวหลังสมัยใหม่ พ.ศ. 2540 ถึงปัจจุบัน
การศึกษาหลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิตแม้ว่าจะเน้นในการเรียนสาขามานุษยวิทยาสังคมวัฒนธรรม แต่ในเนื้อหาของการเรียนการสอนก็มุ่งศึกษาและทำความเข้าใจเนื้อหาของมานุษยวิทยาครอบคลุมถึงสาขาอื่น ๆ ทั้งเรื่องเศรษฐกิจ การเมือง มานุษยวิทยากายภาพ เป็นต้น และในแง่งานสารนิพนธ์ของนักศึกษาเริ่มนำเอาทฤษฎีหลังสมัยใหม่มาสอนในรายวิชา และนักศึกษาส่วนหนึ่งได้นำเอาไปใช้เป็นแนวคิดและทฤษฎีในการวิเคราะห์ปรากฏการณ์ทางสังคมที่ตัวเองพัฒนาเป็นหัวข้องานศึกษาในรายวิชาศึกษาค้นคว้าเฉพาะบุคคล