Department of Eastern Languages

ภาควิชาภาษาตะวันออก คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร เป็นภาควิชาเดียวในประเทศไทยที่จัดการเรียนการสอนวิชาภาษาไทยเพื่อการอ่านจารึกและอักษรโบราณ ทั้งในระดับปริญญาตรีและปริญญาโท รวมทั้งเปิดสอนวิชาภาษาสันสกฤต และภาษาเขมรตั้งแต่ระดับปริญญาตรีจนถึงปริญญาเอก และเปิดสอนวิชาภาษาฮินดีเป็นวิชาโทในหลักสูตรสาขาวิชาภาษาตะวันออก

นอกจากนี้ยังได้จัดตั้งศูนย์สันสกฤตศึกษาเพื่อจัดกิจกรรมทางวิชาการเป็นศูนย์ข้อมูล และร่วมมือกับสถาบันการศึกษานานาชาติ ซึ่งศึกษาวิจัยภาษาสันสกฤตและภาษาอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องอีกด้วย ในปัจจุบันศูนย์สันสกฤตศึกษามีฐานะเป็นหน่วยงานเทียบเท่าภาควิชาสังกัดคณะโบราณคดีโดยมีอาจารย์ด้านภาษาสันสกฤตของภาควิชาภาษาตะวันออกเป็นผู้ดำเนินงาน

ลำดับเหตุการณ์สำคัญของภาควิชาภาษาตะวันออก

ในปี พ.ศ. 2517 เปิดสอนหลักสูตรปริญญาศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาภาษาไทย และหลักสูตรปริญญาศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาภาษาตะวันออก

ในปี พ.ศ. 2519 เปิดสอนหลักสูตรปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาจารึกภาษาไทย และหลักสูตรปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาจารึกภาษาตะวันออก

ในปี พ.ศ. 2522 ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร. อุไรศรี วรศะริน เป็นผู้ริเริ่มก่อตั้ง “กองทุนสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา” เพื่อเฉลิมพระเกียรติและเป็นพระอนุสรณ์และได้ขยายกองทุนขึ้นเป็น “มูลนิธิสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา”

ในปี พ.ศ. 2530 เปิดสอนหลักสูตรปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาภาษาสันสกฤต

ในปี พ.ศ. 2532 ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร. อุไรศรี วรศะริน เป็นหนึ่งในผู้ริเริ่มแนวคิดในการจัดตั้ง “ศูนย์ข้อมูลเอกสารศิลปะและมานุษยวิทยา” ให้แก่มหาวิทยาลัยศิลปากร ปัจจุบันคือ “ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร”

ในปี พ.ศ. 2536 เปิดสอนหลักสูตรปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาเขมรศึกษา

ในปี พ.ศ. 2539 ก่อตั้งศูนย์สันสกฤตศึกษา ซึ่งเป็นหน่วยงานหนึ่งที่มีภารกิจหลักเพื่อส่งเสริม ให้ความรู้ และจัดการเรียนการสอนภาษาสันสกฤตและวิชาที่เกี่ยวข้องให้แก่นักศึกษาทั้งระดับปริญญาตรี โท และเอก

ในปี พ.ศ. 2541 ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร. อุไรศรี วรศะริน เป็นผู้จัดทำโครงการและวิทยากรนำชมวังหน้าและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร โดยไม่คิดค่าบริการ โครงการนี้ได้รับรางวัล “รายการท่องเที่ยวดีเด่น” ประจำปี 2541 จากการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และภาควิชาภาษาตะวันออก จัดประชุมสันสกฤตนานาชาติว่าด้วยภาษาสันสกฤตในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้: ปัจจัยผสมผสานทางวัฒนธรรม (International Sanskrit Conference on Sanskrit in Southeast Asia: The Harmonizing Factor of Cultures)

ในปี พ.ศ. 2543 เปิดสอนหลักสูตรปริญญาศิลปศาสตรดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาภาษาสันสกฤต ในปี พ.ศ. 2544 เปิดหลักสูตรปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาการจัดการจดหมายเหตุและเอกสาร (มหาบัณฑิต) และเปิดหลักสูตรปริญญาศิลป ศาสตรดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาภาษาเขมร