Avalokitesvara

ประติมากรรมอวโลกิเตศวร

ประติกรรมชิ้นนี้จำลองมาจากพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร ที่พบจากวัดพระบรมธาตุไชยา อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี จัดอยู่ในศิลปะศรีวิชัย ราวพุทธศตวรรษที่ 14-15

นักวิชาการสันนิษฐานว่า ประติมากรรมองค์ดังกล่าวหมายถึงพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร หากเป็นดังข้อสันนิษฐาน ศิราภรณ์ (เครื่องประดับศีรษะ) ที่หักหายไป น่าจะมีการประดับพระพุทธเจ้าอมิตาภะ โดยตามความเชื่อทางพระพุทธศาสนาฝ่ายมหายาน พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร เป็นพระโพธิสัตว์ที่ติดตามพระพุทธเจ้าอมิตาภะ รูปแบบศิลปกรรมของประติมากรรมองค์ดังกล่าวยังแสดงความสัมพันธ์กับศิลปะชวาภาคกลางของอินโดนีเซีย ซึ่งได้รับแรงบันดาลใจจากศิลปะอินเดีย อาทิ การยืนตริภังค์ ลักษณะเครื่องประดับพระวรกาย เป็นต้น

Damrong Rajanubhab

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ พระโอรสในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 พระองค์ทรงเป็นนักปราชญ์ที่ได้รับการยกย่องเป็น “พระบิดาแห่งประวัติศาสตร์และโบราณคดีไทย”

หนึ่งในคุณูปการที่สำคัญของพระองค์ คือการวางรากฐานด้านประวัติศาสตร์และโบราณคดีไทย ที่กลายมาเป็นต้นแบบการศึกษาค้นคว้า ตลอดจนการเรียนการสอนในปัจจุบัน

รวมถึง มหาวิทยาลัยศิลปากร ที่มีการเรียนการสอนด้านประวัติศาสตร์โดยตรง เป็นหนึ่งในมหาวิทยาลัยที่ได้นำทฤษฎีและแนวคิดของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ มาใช้ในการศึกษาต่อยอด

 “ประวัติศาสตร์ไทยได้เริ่มจากการค้นคว้าของพระองค์เป็นพระองค์แรก พระองค์ทรงวางรากฐานสำคัญมากมาย ประการสำคัญคือการแบ่งยุคสมัยทางประวัติศาสตร์และโบราณคดี รวมถึงประวัติศาสตร์ศิลปะในประเทศไทยออกเป็นยุคสมัยต่างๆ ตามลำดับ อย่างที่เราได้เรียนกัน เช่น ประวัติศาสตร์สมัยทวารวดี ประวัติศาสตร์สมัยศรีวิชัย ประวัติศาสตร์สมัยสุโขทัย และประวัติศาสตร์สมัยอยุธยา ซึ่งเป็นประวัติศาสตร์ที่เกิดจากการแบ่งยุคสมัยของพระองค์ทั้งสิ้น ตรงนี้เป็นรากฐานสำคัญ” (รศ.ดร.ประภัสสร์ ชูวิเชียร)

Prasat Ta Dam Pediment

ชิ้นส่วนหน้าบันจากปราสาทตาดำ (ปราสาทปะคำ หรือ ปราสาทหนองตาสี) อำเภอปะคำ จังหวัดบุรีรัมย์

ข้อสังเกตที่บอกได้ว่าเป็นชิ้นส่วนหน้าบัน คือ มีส่วนของกรอบหน้าบันแบบโค้งเข้าโค้งออก ภายในสลักลายก้านต่อดอก และส่วนใบระกาที่สลักลายก้านต่อดอกเช่นกัน ภายในกรอบสลักรูปบุคคลชายประทับยืน ถือดอกไม้ห้อยตกลงมา นุ่งผ้าสมพตสั้น ขอบผ้านุ่งด้านหลังยกสูงและเว้าลึกตกลงมาที่ด้านหน้า ด้านข้างมีรูปสตรีที่ขอบผ้านุ่งด้านบนมีรูปแบบเช่นเดียวกับบุรุษ จากลักษณะของขอบผ้านุ่งนี้เอง ที่สามารถใช้เป็นเครื่องมือกำหนดอายุชิ้นส่วนหน้าบันชิ้นนี้ได้ว่า มีอายุอยู่ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 16 (ศิลปะเขมรแบบบาปวน)

Pediment

ชิ้นส่วนหน้าบัน

สันนิษฐานว่า มีอายุราวปลายพุทธศตวรรษที่ 16 – 17 เนื่องจากหน้าบันในช่วงเวลานี้ นิยมประดับขอบด้านล่างของทับหลังด้วยลายคล้ายขื่อ

องค์ประกอบที่บ่งบอกถึงการเป็นชิ้นส่วนหน้าบัน คือ มีส่วนกรอบโค้ง ภายในกรอบสลักลายดอกซีกดอกซ้อน ปลายกรอบเป็นเศียรนาค ขอบด้านล่างสลักลายคล้ายขื่อ สังเกตจากมีการสลักลายเป็นส่วนหัวเสา (เหลือข้างเดียว) และตัวขื่อที่เป็นแนวยาวเรียบ

ภายในกรอบหน้าบันสลักลายบุคคลประทับนั่งเหนือหน้ากาล หน้ากาลคายลายก้านต่อดอกที่โค้งล้อไปกับกรอบหน้าบัน