Faculty of Archaeology’s Timeline

ในช่วงเวลานี้เกิดกระแสการปรับปรุงคณะโบราณคดี ที่เป็นจุดเปลี่ยนให้เกิดการปรับปรุงหลักสูตรให้กว้างขวางและหลากหลายขึ้น สืบเนื่องจากฝ่ายบริหารของมหาวิทยาลัยเห็นว่าหลักสูตรวิชาพื้นฐานของคณะโบราณคดี คล้ายกับคณะอักษรศาสตร์ที่จะเปิดขึ้นใหม่ จึงมีแนวคิดที่จะให้ยุบคณะโบราณคดีลงไปเป็นสาขาวิชาหนึ่งของอักษรศาสตร์ แม้ต่อมาจะไม่ได้มีการยุบรวมกับคณะอักษรฯ แต่ภายหลังยังมีโครงการที่จะตั้งคณะศิลปศาสตร์ ขึ้นใหม่ที่วังท่าพระ แล้วยกคณะโบราณคดีขึ้นเป็นสถาบัน สอนเฉพาะปริญญาโท แต่โครงการต่างๆ ก็ได้ถูกระงับไว้ ปรับเปลี่ยนเป็นให้คณะโบราณคดีรับหน้าที่สอนวิชาพื้นฐานให้กับคณะต่างๆ ของวิทยาเขตวังท่าพระ จึงเป็นโอกาสให้คณะโบราณคดีปรับปรุงการเรียนการสอน เปิดปริญญาโทของสาขาโบราณคดี และได้งบประมาณสำหรับการก่อสร้างอาคารเรียนใหม่เพื่อรองรับการเรียนการสอนหลักสูตรพื้นฐานทางศิลปศาสตร์ รวมทั้งแนวคิดที่จะยกเลิกหลักสูตรปริญญาตรีของคณะโบราณคดีดังกล่าว ได้นำไปสู่การปรับเปลี่ยนหลักสูตรในปี 2513 จากศิลปบัณฑิตเป็นศิลปศาสตรบัณฑิต และต่อมาในปี 2517 ได้แยกออกเป็น 7 สาขาวิชาเอก เพื่อรองรับและตอบสนองนักศึกษาที่เข้าเรียนและจบใหม่ได้มีทางเลือกที่หลากหลายขึ้น รวมทั้งบรรดาอาจารย์ที่ไปศึกษาต่อยังต่างประเทศเริ่มกลับมาสอนในคณะและก่อร่างวางหลักสูตรการเรียนการสอนในแต่ละภาควิชา คณะโบราณคดีปรับปรุงหลักสูตรใหม่ โดยใช้ระบบหน่วยกิต และแบ่งภาควิชาออกเป็น 5 ภาควิชา คือ รวมภาควิชาโบราณคดีสมัยก่อนประวัติศาสตร์และสมัยประวัติศาสตร์เป็นภาควิชาโบราณคดี ตั้งภาควิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ และภาควิชามานุษยวิทยาขึ้นใหม่ ส่วนภาควิชาภาษาตะวันออก และภาควิชาภาษาตะวันตกยังคงเดิม ซึ่งนักศึกษาสามารถเลือกเรียนวิชาเอกได้ 7 สาขา ได้แก่ 1. สาขาวิชาโบราณคดี 2. สาขาวิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ 3. สาขาวิชามานุษยวิทยา 4. สาขาวิชาภาษาอังกฤษ 5. สาขาวิชาภาษาฝรั่งเศส 6. สาขาวิชาภาษาไทย 7. สาขาวิชาการอ่านจารึก

B.E.2531

ศาสตราจารย์ หม่อมเจ้า สุภัทรดิศ ดิศกุล อดีตคณบดีคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร ยังเสด็จไปอธิบายให้ประชาคมเมืองชิคาโกเข้าใจ สุดท้าย ทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์ จึงได้กลับคืนสู่เมืองไทย เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ.2531

B.E.2514

ชุมนุมศึกษาวัฒนธรรม – โบราณคดี สโมสรนักศึกษามหาวิทยาลัยศิลปากร ที่มีนักศึกษาคณะโบราณคดีเป็นผู้ก่อตั้งและเป็นสมาชิกหลัก ได้ออกวารสาร “นภศูล” เป็นเอกสารวิชาการ เพื่อการเผยแพร่ผลงานด้านศิลปะ วัฒนธรรม ประเพณี ประวัติศาสตร์ และโบราณคดีของสมาชิกชุมนุมฯ

B.E.2510 (2)

การแสดงผลงานนักศึกษาในงานนิทรรศการทางโบราณคดีครั้งแรก

ที่มา : นิทรรศการโบราณคดี. กรุงเทพฯ : มหาวิทยาลัยศิลปากร. คณะโบราณคดี, 2510.

ชุมนุมศึกษาวัฒนธรรม-โบราณคดี จัดนิทรรศการ “โบราณคดี” ขึ้นเป็นครั้งแรก มีการจัดนิทรรศการแสดงผลงานของนักศึกษาสาขาต่างๆ และการอภิปรายในหัวข้อต่างๆ เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ของชาติไทย ณ บริเวณสวนแก้ว และท้องพระโรงวังท่าพระ ระหว่างวันที่ 29 มกราคม-4 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2510 และจัดต่อเนื่องมาเป็นประจำทุกปี

B.E.2510

การออกสำรวจและภาคสนามของนักศึกษาโบราณคดีสมัยก่อน มีอาจารย์ปรีชา กาญจนาคม และมหาจิระเดช ไวยโกสิทธิ์ ยืนด้านหน้า

ที่มา : พีรพน พิสณุพงศ์

คณะโบราณคดีตั้งงบประมาณขอซื้อรถแลนด์โรเวอร์ แบบตรวจการ 1 คัน เพื่อใช้ออกสำรวจ และได้รับงบประมาณให้ซื้อรถดังกล่าวออกสำรวจแหล่งโบราณคดี เป็นรถยนตร์คันแรกของคณะและรถคันแรกของมหาวิทยาลัยศิลปากร

 “รถคณะโบราณคดีคันแรกตอนนั้นเป็น Jeep Land Rover หรูหรามาก เป็นคันแรกและคันเดียวของมหาวิทยาลัย…. พอได้มาก็ใช้เกินคุ้มเลย มีเรื่องมีราวตรงไหน อย่างไร ก็ไปกัน รถจี้ปคันนึงนั่งได้ก็ประมาณสัก 12 คน แต่เราอัดกันเข้าไปตั้ง 20 คน ไม่รู้นั่งซ้อนๆ กันไปได้อย่างไร…” อาจารย์ปรีชา กาญจนาคม เล่าถึงรถยนต์คันแรกของคณะโบราณคดี ในหนังสือ 60 ปี มหาวิทยาลัยศิลปากร พ.ศ. 2486-2546

B.E.2509

ท่านอาจารย์ และ ฌอง บวสเซอลิเยร์ พร้อมทั้งนักศึกษาคณะโบราณคดีคราวขุดค้นที่เมืองโบราณอู่ทอง อ. อู่ทอง จ. สุพรรณบุรี พ.ศ. 2509

ที่มา : โบราณวิทยาเรื่องเมืองอู่ทอง. พระนคร : กรมศิลปากร, 2509. ใน พ.ศ. 2509 ท่านอาจารย์และ ฌอง บวสเซอลิเยร์ พร้อมทั้งนักศึกษาคณะโบราณคดีขุดค้นที่เมืองโบราณอู่ทอง อ. อู่ทอง จ. สุพรรณบุรี ครั้งนั้นจึงเกิดข้อสมมติฐานใหม่ทางโบราณคดีว่า จำนวนผู้คนที่อาศัยในเมืองอู่ทองเริ่มเบาบางตั้งแต่ พุทธศตวรรษที่ 15-16 ส่งผลให้แนวคิดเรื่องสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 พระเจ้าอู่ทองไม่ได้เสด็จมาจากเมืองอู่ทอง

B.E.2508

ตราคณะกรรมการนักศึกษาคณะโบราณฯ

ที่มา : บทจร. ฉบับที่ 1 (เดือนมกราคม – กุมภาพันธ์, 2537)

เกิดคณะกรรมการนักศึกษาคณะโบราณคดีอย่างเป็นทางการใน พ.ศ. 2508 มีนายดำรงสิทธิ ณ บางช้าง ดำรงตำแหน่งหัวหน้า โดยจัดดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ เกี่ยวกับกิจกรรมนักศึกษาของคณะโบราณคดี เช่น การจัดทัศนศึกษา งานทำบุญเลี้ยงพระ งานรื่นเริงอื่น ๆ เป็นต้น

SU Archaeology Song

เพลงคณะโบราณคดี

ตั้งแต่ราว พ.ศ. 2507 เป็นต้นมา น่าจะเริ่มมีการแต่งเพลงคณะโบราณคดีมาเป็นระยะๆ ผู้ซึ่งมีบทบาทในการแต่งเพลงช่วงระยะแรก คือ คุณสุจิตต์ วงษ์เทศ (เข้าเรียนคณะโบราณคดี พ.ศ. 2507-2513) เพลงที่แต่งไว้ในช่วงที่เป็นนักศึกษา ได้แก่ เพลงไม่มีน้ำตา (ภายหลังรู้จักกันในชื่อ โบราณคดีไม่มีน้ำตา), เพลงรีบไปทำงาน (ภายหลังรู้จักกันในชื่อ เพลงโบราณคดี 2), เพลงอยุธยา, เพลงลพบุรี และ เพลงสุโขทัย