
ก่อนการแบ่งเป็น 7 ภาควิชาใน พ.ศ. 2517 การเรียนการสอนภาษาตะวันตกเริ่มปรากฎมาตั้งแต่ในช่วงแรกของหลักสูตรคณะโบราณคดีแล้ว ภาษาอังกฤษและฝรั่งเศสมีฐานะเป็นวิชาเลือก เพื่อเป็นเครื่องมือของการเรียนวิชาโบราณคดีและประวัติศาสตร์ศิลปะในการอ่านศึกษาค้นคว้าเอกสารที่เป็นภาษาอังกฤษและฝรั่งเศส ซึ่งมีอยู่เป็นจำนวนมาก
จนกระทั่งในปีการศึกษา 2517 หลักสูตรของคณะโบราณคดีมีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ ภาควิชาภาษาตะวันตกซึ่งประกอบไปด้วย สาขาวิชาภาษาอังกฤษ และสาขาวิชาภาษาฝรั่งเศส ได้ถือกำเนิดขึ้น
จุดประสงค์และเอกลักษณ์ในการเรียนการสอนของภาควิชาตะวันตก มีจุดมุ่งหมายเพื่อฝึกฝนทักษะต่าง ๆ ให้มีความชำนาญพอที่จะนำไปใช้หรือประยุกต์ในการประกอบอาชีพหรือดำรงชีวิตในสังคม ให้เรียนรู้แนวความคิดที่แฝงอยู่ในวรรณคดี ศิลปะ หรือปรัชญาของเจ้าของภาษา
สาขาวิชาภาษาอังกฤษจัดตั้งขึ้นอย่างเป็นทางการใน พ.ศ. 2517 คือสาขาหนึ่งของภาควิชาภาษาตะวันตก เป็นสาขาวิชาที่มีจุดมุ่งหมายเพื่อฝึกทักษะภาษาอังกฤษ ด้านการอ่าน การฟัง การพูด และการเขียน ให้มีความชำนาญเพื่อนำไปใช้ หรือประยุกต์ในการประกอบอาชีพ หรือดำรงชีวิตในสังคม นอกจากนี้ยังให้เรียนรู้แนวความคิดที่แฝงอยู่ในวรรณคดี ศิลปะ หรือปรัชญาของเจ้าของภาษา
ห้องเรียนและห้องปฏิบัติการทางภาษา (Language Lab) ราวพ.ศ. 2519-2521
ใน พ.ศ. 2521 เมื่อตึกคณะแห่งใหม่สร้างเสร็จ อาจารย์พรพิมล เสนะวงศ์ ได้เล่าว่า พื้นที่ใช้สอยของอาคารมีน้อยกว่าที่วางแผนไว้มากทำให้จำเป็นต้องมีการต่อเติมเปลี่ยนแปลงพื้นที่ระเบียงในบางชั้นเป็นห้องเรียน หรือห้องพักอาจารย์ รวมทั้งพื้นที่ส่วนหนึ่งที่ออกแบบไว้เป็นห้องปฏิบัติการทางภาษาหรือห้อง Lab ภาษาอังกฤษก็ยังเป็นเพียงห้องโล่งๆ จนได้รับการปรับปรุงแล้วเสร็จใน พ.ศ. 2522 ผ่านการปรับปรุงภายในอาคาร ปรับปรุงห้องปฏิบัติการทางภาษา และต่อเติมดาดฟ้าของอาคารคณะโบราณคดีใน พ.ศ. 2523
สาขาวิชาภาษาอังกฤษในปัจจุบัน สาขาวิชาภาษาอังกฤษ ภาควิชาภาษาตะวันตก เปิดการเรียนการสอนระดับปริญญาตรี โดยมีการปรับปรุงหลักสูตรมาอย่างต่อเนื่อง โดยในปีการศึกษา 2564 สาขาจะเริ่มใช้หลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต ฉบับปรับปรุง พ.ศ.2564 ซึ่งมีเนื้อหาสาระที่ปรับให้เหมาะสมกับความเป็นไปในยุคปัจจุบัน พร้อมกันนั้นก็ยังคงอัตลักษณ์ความเป็นคณะโบราณคดีไว้อีกด้วย