
นับตั้งแต่คณะโบราณคดีถูกตั้งขึ้นเป็นคณะวิชาหนึ่งของมหาวิทยาลัยศิลปากร และในสมัยศาสตราจารย์หม่อมเจ้าสุภัทรดิศ ดิศกุล เป็นคณบดี ภาษาฝรั่งเศสมีบทบาทเป็นวิชาเลือกวิชาหนึ่ง เพื่อเป็นเครื่องมือใช้อ่านและศึกษาค้นคว้าเอกสารภาษาฝรั่งเศสสำหรับการเรียนวิชาโบราณคดีและประวัติศาสตร์ศิลปะ ซึ่งมีอยู่เป็นจำนวนมาก โดยมีศาสตราจารย์ คุณหญิงไขศรี ศรีอรุณ เป็นผู้รับผิดชอบ
ต่อมาใน พ.ศ. 2517 มีการจัดตั้งสาขาวิชาภาษาฝรั่งเศสเป็นสาขาหนึ่งของภาควิชาภาษาตะวันตก เมื่อคณะได้ปรับปรุงหลักสูตรและมีการแยกเป็น 7 ภาควิชา
หลักสูตรวิชาภาษาฝรั่งเศสในระยะแรกนั้น เน้นหนักรายวิชาที่เกี่ยวกับทักษะการใช้ภาษา (อ่าน ฟัง พูด คิด เขียน) ภาษาศาสตร์ อารยธรรม วรรณคดี การแปล ฯลฯ
ต่อมามีการปรับปรุงหลักสูตรโดยเพิ่มวิชาเลือกที่เปิดโอกาสให้นักศึกษาเข้าสู่อาชีพได้มากขึ้น เช่น วิชาภาษาฝรั่งเศสด้านการท่องเที่ยว ภาษาฝรั่งเศสด้านการโรงแรม ภาษาฝรั่งเศสด้านเลาขานุการ ภาษาฝรั่งเศสด้านการสอน ภาษาฝรั่งเศสด้านศิลปะ เป็นต้น
และใน พ.ศ. 2549 – 2550 สาขาวิชาภาษาฝรั่งเศสเปิดหลักสูตรศิลปศาสตร มหาบัณฑิต สาขาวิชาภาษาฝรั่งเศสเพื่อการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม (Master of Arts in French for Cultural Tourism) โดยได้รับการสนับสนุนด้านการประชาสัมพันธ์ ด้านหนังสือ อุปกรณ์การสอนจากสำนักทูตวัฒนธรรมฝรั่งเศส สถานเอกอัครราชทูตฝรั่งเศส ประจำประเทศไทย ซึ่งเมื่อจบการศึกษาแล้วจะได้รับปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิตควบคู่กับประกาศนียบัตรมัคคุเทศก์ ซึ่งออกให้โดยการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา แต่หลังจากเปิดได้รุ่นเดียวก็ต้องระงับการดำเนินการไว้ชั่วคราว เนื่องจากประธานหลักสูตรเกษียณอายุราชการทำให้การบริหารหลักสูตรประสบปัญหาและจำนวนผู้สอนไม่ครบตามเกณฑ์ของสำนักงานกรรมการอุดมศึกษา (สกอ.)
หลังปี 2550 มีการปรับปรุงหลักสูตรให้หลากหลายยิ่งขึ้น เช่น จัดให้หมวดวรรณคดีเป็นหมวดวิชาเลือกร่วมกับหมวดวิชาภาษาศาสตร์ ในปีการศึกษา 2554
ปัจจุบันสาขาภาษาฝรั่งเศส มีการสอนภาษาฝรั่งเศสเฉพาะด้านที่เป็นลักษณะเฉพาะของคณะโบราณคดี เช่น ภาษาฝรั่งเศสด้านวิจิตรศิลป์ ศิลปะไทย ศิลปะเอเชียอาคเนย์ การจัดการด้านวัฒนธรรม เป็นต้น เพื่อให้ผู้เรียนมีความรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมไทย รวมทั้งความสัมพันธ์ระหว่างไทย-ฝรั่งเศส เกิดการศึกษาเชิงเปรียบเทียบ และนำมาสร้างสรรค์เพื่อปรับใช้ได้อย่างเหมาะสมในสังคมไทย