ภาควิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ เกิดขึ้นจากการปรับปรุงโครงสร้างหลักสูตรของคณะโบราณคดีเมื่อ พ.ศ. 2517 ที่ได้เปิดสาขาวิชาที่หลากหลายขึ้น ภาควิชาประวัติศาสตร์ศิลปะจึงเป็นการขยายขอบเขตการศึกษาทางด้านโบราณคดีสมัยประวัติศาสตร์ออกมาในแง่การวิเคราะห์ตีความโบราณวัตถุสถานและกินระยะเวลามาจนถึงการศึกษางานช่างและศิลปกรรมในปัจจุบันด้วย
ผู้เป็นหลักในการเรียนการสอนของภาควิชาประวัติศาสตร์ศิลปะตั้งแต่ยุคเริ่มต้น ได้แก่ “ท่านอาจารย์” ศาสตราจารย์ หม่อมเจ้าสุภัทรดิศ ดิศกุล ซึ่งทรงนำทฤษฎีทางประวัติศาสตร์ศิลปะจากต่างประเทศ ได้แก่ อังกฤษและฝรั่งเศสมาเป็นพื้นฐานการเรียนการสอนของภาควิชาฯ โดยจัดให้มีการเรียนประวัติศาสตร์ศิลปะประเทศใกล้เคียง เป็นพื้นฐานก่อนที่จะเรียนศิลปะในประเทศไทยสมัยต่าง ๆ และตามมาด้วยศิลปะในซีกโลกอื่น ๆ
สองทศวรรษแรกของภาควิชาประวัติศาสตร์ศิลปะนั้น เป็นยุคสมัยเริ่มต้นในการปูพื้นฐานการค้นคว้าประวัติศาสตร์ศิลปะอย่างแท้จริง ด้วยมีคณาจารย์ที่สอนและทำงานวิจัยในวิชาประวัติศาสตร์ศิลปะตะวันออก ศิลปะตะวันออกไกล และศิลปะตะวันตก รวมไปถึงวิชาที่สำคัญได้แก่ ประติมานวิทยา เป็นต้น
คณาจารย์ที่สำคัญในยุคแรก ๆ ของภาควิชานอกจากศาสตราจารย์ หม่อมเจ้า สุภัทรดิศ ดิศกุล ได้แก่ ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.สันติ เล็กสุขุม, อาจารย์สมิทธิ ศิริภัทร, รองศาสตราจารย์มาลินี คัมภีรญาณนนท์, ผู้ช่วยศาสตราจารย์สุทธิลักษณ์ ไชยสุต, รองศาสตราจารย์วีรวรรณ มณี, อาจารย์ ดร.จิตติมา อมรพิเชษฐ์กูล
ปี พ.ศ. 2529 ภาควิชาฯ เปิดหลักสูตรในระดับปริญญาโท สาขาวิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ นับเป็นก้าวสำคัญที่ยกระดับการศึกษาค้นคว้าวิจัยจนเป็นที่ยอมรับในวงวิชาการมากขึ้น
และช่วงทศวรรษ 2530 นี้เองที่อาจารย์ในภาควิชาผลิตผลงานวิจัยออกมาเป็นจำนวนมาก เป็นการปูพื้นฐานทฤษฎีทางประวัติศาสตร์ศิลปะที่ผลิบานจากการค้นคว้าของนักปราชญ์รุ่นก่อนหน้า
ตั้งแต่ราว พ.ศ. 2540 เป็นต้นมา แม้ว่าศาสตราจารย์ หม่อมเจ้าสุภัทรดิศ ดิศกุล ทรงประชวร แต่ก็เริ่มมีอาจารย์รุ่นใหม่ ๆ เข้ามาสานต่อและขยายองค์ความรู้การค้นคว้าออกไป ซึ่งหลังจากการสร้างฐานการวิจัยทางประวัติศาสตร์ศิลปะอย่างเป็นระบบแล้ว ก็ยังมีการประยุกต์ใช้ข้อมูลทางประวัติศาสตร์ศิลปะให้เป็นประโยชน์ด้านอื่น ๆ ด้วย เช่น การท่องเที่ยว การอนุรักษ์งานศิลปกรรมโบราณ หรือการสร้างรูปแบบสันนิษฐานของโบราณสถานเพื่อความเข้าใจ
นอกจากนี้ รายวิชาที่เปิดสอนยังมีความหลากหลายมากขึ้น เป็นต้นว่า วิชาศิลปะอิสลาม ศิลปะเอเชียกลาง วัฒนธรรมทางสายตาร่วมสมัย รวมไปถึงการเรียนรู้วิธีปฏิบัติงานภาคสนามเพื่อเก็บข้อมูลศิลปกรรมอย่างเป็นระบบชัดเจน อีกทั้งในระยะนี้มีการกลับมาทบทวนวิธีคิดและค้นคว้ากำหนดอายุทางประวัติศาสตร์ศิลปะโดยนักวิชาการหลายท่าน
ใน พ.ศ. 2548 ได้เปิดหลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาประวัติศาสตร์ศิลปะไทย เพื่อพัฒนาการผลิตบุคคลากรสู่การค้นคว้าระดับปริญญาเอกด้านประวัติศาสตร์ศิลปะ
ปัจจุบัน ภาควิชาประวัติศาสตร์ศิลปะก็ยังคงมุ่งเน้นการค้นคว้าวิจัยอย่างต่อเนื่อง โดยนอกจากจุดประสงค์เพื่อผลิตบัณฑิตที่มีคุณภาพในด้านความรู้ทางประวัติศาสตร์ศิลปะแล้ว ยังสร้างผลงานทางวิชาการเพื่อพัฒนาความรู้ความเข้าใจในด้านนี้ออกมาอย่างไม่ขาดสาย