Wat Phra Si Rattana Satsadaram

วัดพระศรีรัตนศาสดาราม เมื่อแรกสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์  พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชได้โปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระราชวังที่ฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยาเพื่อเป็นที่ประทับและทรงประกอบพระราชกรณียกิจต่างๆ  ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 4 ได้พระราชทานนามว่า พระบรมมหาราชวัง ประกอบไปด้วยเขตพระราชฐานชั้นนอกซึ่งเป็นสถานที่ราชการต่างๆ  เขตพระราชฐานชั้นกลาง เป็นที่ตั้งของพระที่นั่งและพระมหาปราสาทสำหรับเสด็จออกว่าราชการและการพระราชพิธี  เขตพระราชฐานชั้นใน เป็นหมู่พระที่นั่งที่ประทับของพระมหากษัตริย์ และพระตำหนักของสมเด็จพระอัครมเหสี พระราชเทวี เจ้าจอม และข้าราชบริพารฝ่ายใน  ด้านทิศตะวันออกของพระบรมมหาราชวังยังเป็นที่ตั้งของวัดพระศรีรัตนศาสดาราม หรือ วัดพระแก้วซึ่งเป็นวัดประจำพระบรมมหาราชวังที่ไม่มีพระสงฆ์จำพรรษา ภายในพระอุโบสถเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากรหรือพระแก้วมรกต พระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองของกรุงรัตนโกสินทร์

Wat Arun Ratchawararam

วัดอรุณราชวราราม เป็นวัดเก่าแก่มีมาตั้งแต่สมัยอยุธยา ได้รับการบูรณะมาหลายยุคสมัยจนกระทั่งปัจจุบัน งานสถาปัตยกรรมที่สำคัญของวัดแห่งนี้คือ พระปรางค์ประธาน โดยมีการบูรณะและการขยายขนาดพระปรางค์ในสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี รัชกาลที่ 2-3 โดยรูปแบบของพระปรางค์ที่ปรากฏในปัจจุบันเป็นงานบูรณะในสมัยรัชกาลที่ 3 พระปรางค์องค์นี้เป็นตัวแทนแนวคิดการออกแบบศาสนสถานโดยจำลองจากคติจักรวาลที่เชื่อถือกันในพุทธศาสนาแบบเถรวาท พระปรางค์ประธานแทนเขาพระสุเมรุ ซึ่งเป็นแกนกลางจักวาล ส่วนประติมากรรมที่ประดิษฐานภายในซุ้มจระนำของพระปรางค์ประธานทั้ง 4 ด้าน เป็นรูปบุคคลแต่งกายแบบเทวดาอย่างไทย และทรงช้าง ลักษณะดังกล่าวหมายถึงพระอินทร์ ซึ่งเป็นประธานของสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ที่อยู่บนเขาพระสุเมรุ

Wat Mahathat Yuwararangsarit

วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ราชวรมหาวิหาร เป็นวัดเก่าแก่ที่สร้างขึ้นในสมัยอยุธยา เดิมชื่อว่า “วัดดีสลัก” เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช (รัชกาลที่ 1) สถาปนากรุงรัตนโกสินทร์เป็นราชธานี วัดแห่งนี้ได้รับการบูรณะปฏิสังขรณ์ครั้งใหญ่โดยพระราชวังบวรสถานมงคล สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท และทรงเปลี่ยนชื่อวัดดังกล่าวเป็นวัดนิพพานาราม ต่อมา รัชกาลที่ 1 เปลี่ยนนามวัดแห่งนี้อีก 2 ครั้ง ได้แก่ “วัดพระศรีสรรเพชญ” และ “วัดพระศรีรัตนมหาธาตุราชวรมหาวิหาร” ตามลำดับ ส่วนนามวัดในปัจจุบันนั้นได้รับพระราชทานในสมัยรัชกาลที่ 5 ภายในวัด มีงานศิลปกรรมไทยที่ทรงคุณค่า อาทิ พระพุทธรูปประธานในพระอุโบสถ ซึ่งมีพระนามว่า “พระศรีสรรเพชญ์” ตามประวัติกล่าวว่า สร้างขึ้นโดย สมเด็จฯ กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท โปรดเกล้าฯ ให้พระยาเทวารังสรรค์ ช่างวังหน้าเป็นผู้ปั้นขึ้น นอกจากนี้ งานสถาปัตยกรรม อาทิ พระมณฑป พระปรางค์ เป็นตัวอย่างของงานช่างไทยประเพณีที่สำคัญเช่นกัน

Faculty of Archaeology’s Courses

การเรียนการสอนของคณะโบราณคดี

คณะโบราณคดีจัดการเรียนการสอนทั้งในระดับปริญญาตรี โท และเอก มีทั้งหมด 17 หลักสูตร สามารถแบ่งได้เป็น 2 สาย คือ สายวัฒนธรรม และสายภาษา โดยสายวัฒนธรรมประกอบด้วย โบราณคดี ประวัติศาสตร์ศิลปะ มานุษยวิทยา และประวัติศาสตร์ท้องถิ่น ส่วนสายภาษาประกอบด้วย ภาษาไทย ภาษาอังกฤษ ภาษาฝรั่งเศส ภาษาสันสกฤต จารึกภาษาไทยและภาษาตะวันออก

วิชาของคณะโบราณคดีที่เปิดสอนมีความหลากหลาย ตัวอย่างรายวิชาในสายวัฒนธรรมเช่น ประวัติศาสตร์ศิลปะในประเทศไทยโดยสังเขป ศาสนา ไสยศาสตร์และพิธีกรรม มานุษยวิทยาเบื้องต้น มานุษยวิทยาภาพยนตร์ และมานุษยวิทยาอำนาจ  โบราณคดีเบื้องต้น โบราณคดีสมัยประวัติศาสตร์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พิพิธภัณฑสถานวิทยา ส่วนตัวอย่างรายวิชาในสายภาษา เช่น ภาษากับความคิด ภาษาอังกฤษผ่านสื่อดิจิทัล การจัดการทางวัฒนธรรมในประเทศฝรั่งเศส จุดมุ่งหมายของแต่ละสาขาคือ นักศึกษาสามารถเข้าใจความหลากหลายทางวัฒนธรรม โดยอาจจะผ่านการศึกษาแหล่งโบราณคดี งานศิลปกรรม ชุมชน วรรณกรรม หรือภาษาที่ใช้ในการสื่อ นอกจากนี้ยังส่งเสริมให้นักศึกษารู้จักคิดวิเคราะห์ รวมถึงมีความเท่าทันโลก และรู้จักปรับตัว ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญในการทำงาน และอยู่ร่วมกันในสังคม

Faculty of Archaeology’s Timeline

ในช่วงเวลานี้เกิดกระแสการปรับปรุงคณะโบราณคดี ที่เป็นจุดเปลี่ยนให้เกิดการปรับปรุงหลักสูตรให้กว้างขวางและหลากหลายขึ้น สืบเนื่องจากฝ่ายบริหารของมหาวิทยาลัยเห็นว่าหลักสูตรวิชาพื้นฐานของคณะโบราณคดี คล้ายกับคณะอักษรศาสตร์ที่จะเปิดขึ้นใหม่ จึงมีแนวคิดที่จะให้ยุบคณะโบราณคดีลงไปเป็นสาขาวิชาหนึ่งของอักษรศาสตร์ แม้ต่อมาจะไม่ได้มีการยุบรวมกับคณะอักษรฯ แต่ภายหลังยังมีโครงการที่จะตั้งคณะศิลปศาสตร์ ขึ้นใหม่ที่วังท่าพระ แล้วยกคณะโบราณคดีขึ้นเป็นสถาบัน สอนเฉพาะปริญญาโท แต่โครงการต่างๆ ก็ได้ถูกระงับไว้ ปรับเปลี่ยนเป็นให้คณะโบราณคดีรับหน้าที่สอนวิชาพื้นฐานให้กับคณะต่างๆ ของวิทยาเขตวังท่าพระ จึงเป็นโอกาสให้คณะโบราณคดีปรับปรุงการเรียนการสอน เปิดปริญญาโทของสาขาโบราณคดี และได้งบประมาณสำหรับการก่อสร้างอาคารเรียนใหม่เพื่อรองรับการเรียนการสอนหลักสูตรพื้นฐานทางศิลปศาสตร์ รวมทั้งแนวคิดที่จะยกเลิกหลักสูตรปริญญาตรีของคณะโบราณคดีดังกล่าว ได้นำไปสู่การปรับเปลี่ยนหลักสูตรในปี 2513 จากศิลปบัณฑิตเป็นศิลปศาสตรบัณฑิต และต่อมาในปี 2517 ได้แยกออกเป็น 7 สาขาวิชาเอก เพื่อรองรับและตอบสนองนักศึกษาที่เข้าเรียนและจบใหม่ได้มีทางเลือกที่หลากหลายขึ้น รวมทั้งบรรดาอาจารย์ที่ไปศึกษาต่อยังต่างประเทศเริ่มกลับมาสอนในคณะและก่อร่างวางหลักสูตรการเรียนการสอนในแต่ละภาควิชา คณะโบราณคดีปรับปรุงหลักสูตรใหม่ โดยใช้ระบบหน่วยกิต และแบ่งภาควิชาออกเป็น 5 ภาควิชา คือ รวมภาควิชาโบราณคดีสมัยก่อนประวัติศาสตร์และสมัยประวัติศาสตร์เป็นภาควิชาโบราณคดี ตั้งภาควิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ และภาควิชามานุษยวิทยาขึ้นใหม่ ส่วนภาควิชาภาษาตะวันออก และภาควิชาภาษาตะวันตกยังคงเดิม ซึ่งนักศึกษาสามารถเลือกเรียนวิชาเอกได้ 7 สาขา ได้แก่ 1. สาขาวิชาโบราณคดี 2. สาขาวิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ 3. สาขาวิชามานุษยวิทยา 4. สาขาวิชาภาษาอังกฤษ 5. สาขาวิชาภาษาฝรั่งเศส 6. สาขาวิชาภาษาไทย 7. สาขาวิชาการอ่านจารึก

Avalokitesvara

ประติมากรรมอวโลกิเตศวร

ประติกรรมชิ้นนี้จำลองมาจากพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร ที่พบจากวัดพระบรมธาตุไชยา อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี จัดอยู่ในศิลปะศรีวิชัย ราวพุทธศตวรรษที่ 14-15

นักวิชาการสันนิษฐานว่า ประติมากรรมองค์ดังกล่าวหมายถึงพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร หากเป็นดังข้อสันนิษฐาน ศิราภรณ์ (เครื่องประดับศีรษะ) ที่หักหายไป น่าจะมีการประดับพระพุทธเจ้าอมิตาภะ โดยตามความเชื่อทางพระพุทธศาสนาฝ่ายมหายาน พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร เป็นพระโพธิสัตว์ที่ติดตามพระพุทธเจ้าอมิตาภะ รูปแบบศิลปกรรมของประติมากรรมองค์ดังกล่าวยังแสดงความสัมพันธ์กับศิลปะชวาภาคกลางของอินโดนีเซีย ซึ่งได้รับแรงบันดาลใจจากศิลปะอินเดีย อาทิ การยืนตริภังค์ ลักษณะเครื่องประดับพระวรกาย เป็นต้น

Department of Local History

หมวดวิชาประวัติศาสตร์ก่อตั้งและเปิดการเรียนการสอนวิชาโทประวัติศาสตร์ของคณะโบราณคดีมาเป็นเวลาเกือบ 40 ปีด้วยการพัฒนาหลักสูตรที่เริ่มจากการสอนวิชาประวัติศาสตร์ไทย สากลและเอเชีย และในช่วง 20 ปีหลังโดยเฉพาะช่วง 10 ปีที่ผ่านมานี้หมวดวิชาฯได้ปรับการเรียนการสอนมาเน้นประวัติศาสตร์ไทยและประวัติศาสตร์ท้องถิ่นมากขึ้น และเปิดหลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิตวิชาเอกสาขาประวัติศาสตร์ท้องถิ่นขึ้นใน พ.ศ. 2559 ตลอดระยะเวลาสี่ทศวรรษหมวดวิชามีพัฒนาการและการเปลี่ยนแปลงมาโดยลำดับด้วยภารกิจทั้งการเรียนการสอน การศึกษาวิจัย การให้บริการทางวิชาการแก่ชุมชนและการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม

ทศวรรษแรก  พ.ศ. 2520-2530 ยุคก่อร่าง

วิชาประวัติศาสตร์หลายรายวิชาที่เปิดสอนในคณะโบราณคดีช่วงก่อน พ.ศ. 2520 มี ผศ. พันธุ์ทิพย์ พันธุ์คำเป็นผู้สอนหลัก ต่อมาในปีการศึกษา 2521 มีการรับอาจารย์สุภาภรณ์  ตัณศลารักษ์ (จินดามณีโรจน์) เข้ามา จึงเปิดการเรียนการสอนวิชาโทประวัติศาสตร์ขึ้น โดยเปิดสอนประวัติศาสตร์ซึ่งแบ่งออกเป็น 4 กลุ่มวิชา ได้แก่ กลุ่มวิชาประวัติศาสตร์ไทย วิชาประวัติศาสตร์เอเชีย วิชาประวัติศาสตร์ตะวันออกกลาง และ วิชาประวัติศาสตร์ตะวันตก และต่อมา หมวดฯ รับอาจารย์พจนา ฤทธิรงค์ เข้ามาเป็นอาจารย์ด้วย

ในช่วงปลายทศวรรษแรกนี้คือราว พ.ศ. 2528- 2529 มหาวิทยาลัยศิลปากรนำโดยรองศาสตราจารย์อนุวิทย์ เจริญศุภกุลรองอธิการบดีในขณะนั้นสนับสนุนให้มีโครงการวิจัยภูมิภาคตะวันตกบริเวณลุ่มน้ำท่าจีนในลักษณะสหสาขาวิชา อาจารย์สุภาภรณ์ ตัณศลารักษ์ได้เข้าร่วมโครงการและนำเสนอการทำวิจัยประวัติศาสตร์สังคมของชุมชนในลุ่มน้ำท่าจีนนับเป็นงานวิจัยประวัติศาสตร์ท้องถิ่นเป็นชิ้นแรกของคณะโบราณคดีและของมหาวิทยาลัยศิลปากร ทำให้หมวดวิชาฯ เริ่มเห็น ความสำคัญของการศึกษาประวัติศาตร์ท้องถิ่นโดยเฉพาะเรื่องราวของชุมชนและท้องถิ่นมากขึ้น หมวดวิชาฯ จึงเพิ่มรายวิชาประวัติศาสตร์ท้องถิ่น (ประวัติศาสตร์ท้องถิ่นภูมิภาค) ในกลุ่มประวัติศาสตร์ไทย

ทศวรรษที่สอง พ.ศ. 2531-2540 ยุคแห่งการเข้าถึง

ในทศวรรษที่สองนี้หมวดวิชาฯ เพิ่มรายวิชาประวัติศาสตร์ท้องถิ่น (ซึ่งเน้นการเรียนประวัติศาสตร์ท้องถิ่นแบบภูมิภาค คือ ภาคเหนือ ภาคใต้และภาคอีสาน) ในกลุ่มประวัติศาสตร์ไทย ถือเป็นการเปิดรายวิชานี้เป็นที่แรกในมหาวิทยาลัยศิลปากรและในประเทศก็ว่าได้ นอกจากนี้หมวดวิชาฯได้ตระหนักและนำความรู้ที่หลากหลายสาขาทั้งโบราณคดี ประวัติศาสตร์ศิลปะ ภาษาตะวันออกและมานุษยวิทยามาบูรณาการเปิดรายวิชาประวัติศาสตร์ไทยโบราณที่ศึกษาพัฒนาการดินแดนประเทศไทยทุกภาคก่อนพุทธศตวรรษที่ 20 ซึ่งระยะนั้นการเรียนการสอนเนื้อหาและลักษณะการเรียนเช่นรายวิชานี้ยังไม่มีในคณะโบราณคดี ในมหาวิทยาลัยและการเรียนการสอนประวัติศาสตร์ที่สถาบันอื่น ส่วนการเรียนการสอนรายวิชาอื่นๆในกลุ่มวิชาประวัติศาสตร์ไทย รายวิชาในกลุ่มวิชาประวัติศาสตร์เอเชีย วิชาประวัติศาสตร์ตะวันออกกลาง และ วิชาประวัติศาสตร์ตะวันตกยังคงมีเช่นเดิม

การเรียนการสอนในช่วงนี้เริ่มให้ความสำคัญกับการศึกษาจากประสบการณ์ตรงและการลงพื้นที่มากขึ้น โดยเฉพาะในรายวิชาประวัติศาสตร์ท้องถิ่น

ทศวรรษที่สาม พ.ศ. 2541-2550 ยุคแห่งการปรับเปลี่ยน

ช่วงทศวรรษนี้เกิดกระแสความตื่นตัวเรื่องการศึกษาและการวิจัยท้องถิ่นขึ้นในสังคมไทยอย่างเห็นได้ชัด ในช่วงนี้หมวดวิชาฯ ดำเนินการปรับปรุงหลักสูตร (หลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต คณะโบราณคดี ฉบับปรับปรุง พ.ศ. 2546) โดยปรับปรุง เปลี่ยนแปลงและแบ่งรายวิชาต่างๆออกเป็น 3 กลุ่มรายวิชา ได้แก่ กลุ่มประวัติศาสตร์ไทย-ท้องถิ่น กลุ่มประวัติศาสตร์เอเชีย และกลุ่มประวัติศาสตร์ตะวันตก โดยเพิ่มการเรียนการสอนเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ท้องถิ่นมากขึ้น เช่น รายวิชาประวัติศาสตร์ท้องถิ่นที่เน้นแนวคิดและวิธีการ ประวัติศาสตร์ท้องถิ่นภูมิภาคต่างๆ เช่น ประวัติศาสตร์ท้องถิ่นภาคเหนือ ประวัติศาสตร์ท้องถิ่นภาคใต้ ประวัติศาสตร์ท้องถิ่นภาคอีสานและประวัติศาสตร์ท้องถิ่นภาคกลาง ตลอดจนรายวิชาประวัติศาสตร์กรุงเทพฯกับการท่องเที่ยวที่ใช้แนวทางศึกษาแบบประวัติศาสตร์ท้องถิ่น

นอกจากนี้หมวดวิชาฯ ยังเล็งเห็นความก้าวหน้าและประโยชน์ของการนำความรู้ประวัติศาสตร์ไทยและประวัติศาสตร์ท้องถิ่นไปประยุกต์ใช้ จึงได้เปิดรายวิชาเพิ่มเติม ได้แก่ การเขียนสารคดีประวัติศาสตร์ และการเขียนคู่มือการท่องเที่ยว

ทศวรรษที่สี่ : พ.ศ. 2551-ถึงปัจจุบัน (2564) ยุคแห่งการต่อยอด

ในการปรับปรุงหลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต ฉบับ พ.ศ. 2554 ที่ต่อเนื่องมาจนถึงทศวรรษที่สี่ ถึงจะมีการเพิ่มการเรียนการสอนประวัติศาสตร์ท้องถิ่นมากขึ้น แต่การเรียนการสอนโดยทั่วไปยังคงให้ความสำคัญกับรายวิชาในกลุ่มต่างๆ ทั้ง 3 กลุ่ม เท่ากัน ซึ่งได้แก่ กลุ่มประวัติศาสตร์ไทย-ท้องถิ่น กลุ่มประวัติศาสตร์เอเชีย และกลุ่มประวัติศาสตร์ตะวันตก เพื่อเอื้อประโยชน์ให้นักศึกษาวิชาโทที่มาจากวิชาเอกหลากหลายสาขาสามารถเลือกศึกษาได้ได้ตามความสนใจ และสามารถศึกษามีความรู้รอบด้าน

อย่างไรก็ตามเดิมหมวดวิชาประวัติศาสตร์มีวิชาบังคับ 2 รายวิชาสำหรับนักศึกษาวิชาโทประวัติศาสตร์ คือ ประวัติศาสตร์ไทยโบราณ และประวัติศาสตร์ท้องถิ่น ต่อมายกเลิกวิชาประวัติศาสตร์ไทยโบราณ จึงเหลือแต่วิชาบังคับเพียงรายวิชาเดียว คือ วิชาประวัติศาสตร์ท้องถิ่น

อย่างไรก็ตามปัจจุบันกระแสการเปลี่ยนแปลงที่ส่งผลกระทบต่อชุมชนและสังคมอย่างรวดเร็วทั้งทางเศรษฐกิจและวัฒนธรรม การศึกษาประวัติศาสตร์ท้องถิ่นกำลังได้รับความสนใจและเป็นช่องทางหนึ่งที่สามารถเสริมสร้างพลังและความเข้มแข็งให้กับชุมชนและสามารถนำไปประยุกต์ใช้เพื่อจัดการทรัพยากรทางวัฒนธรรม โดยเฉพาะการพัฒนาชุมชน การจัดการพิพิธภัณฑ์ และการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนและสร้างสรรค์ หมวดวิชาฯ จึงมีแผนงานที่จะเปิดหลักสูตรวิชาเอกประวัติศาสตร์ท้องถิ่นในระดับปริญญาตรีของคณะโบราณคดีใน พ.ศ. 2559 เพื่อรองรับผู้ที่สนใจการเรียนรู้ท้องถิ่น ที่มุ่งเน้นการศึกษาประวัติศาสตร์ท้องถิ่นอย่างเข้าถึง เข้าใจความหลากหลาย และสามารถนำไปประยุกต์ใช้ แต่การเรียนประวัติศาสตร์ท้องถิ่นเป็นสาขาวิชาเอกนั้นจำเป็นต้องได้รับการเน้นเป็นการเรียนให้รอบรู้โดยต้องศึกษาและเข้าใจประวัติศาสตร์เอเชียและประวัติศาสตร์ตะวันตกด้วย

พ.ศ. 2558 หมวดวิชาประวัติศาสตร์จัดทำหลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาประวัติศาสตร์ท้องถิ่น หลักสูตรใหม่ พ.ศ.2559 หมวดวิชาประวัติศาสตร์ คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร  และเริ่มดำเนินการเปิดใช้หลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาประวัติศาสตร์ท้องถิ่น (หลักสูตรใหม่ พ.ศ. 2559) ตั้งแต่ ปีการศึกษา 2559 ถึง ปีการศึกษา 2563

สรุป หมวดวิชาประวัติศาสตร์ได้ก่อตั้งและเปิดการเรียนการสอนวิชาโทประวัติศาสตร์ของคณะโบราณคดีมาเป็นเวลาเกือบ 40 ปีด้วยการพัฒนาหลักสูตรที่เริ่มจากการสอนวิชาประวัติศาสตร์ไทย สากลและเอเชีย ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมานี้หมวดวิชาฯ ได้ปรับการเรียนการสอนมาเน้นประวัติศาสตร์ไทยและประวัติศาสตร์ท้องถิ่นมากขึ้น และพัฒนาหลักสูตรเป็นหลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต วิชาเอกสาขาประวัติศาสตร์ท้องถิ่นขึ้นใน พ.ศ. 2559 ตลอดระยะเวลาสี่ทศวรรษ หมวดวิชามีพัฒนาการและการเปลี่ยนแปลงมาโดยลำดับ ด้วยภารกิจทั้งการเรียนการสอน การศึกษาวิจัย การให้บริการทางวิชาการแก่ชุมชน และการทำนุบำรุง ศิลปวัฒนธรรม  ต่อมา พ.ศ. 2563 หมวดวิชาประวัติศาสตร์ได้ปรับปรุงหลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาประวัติศาสตร์ท้องถิ่น (หลักสูตรปรับปรุง พ.ศ.2564)  สำหรับการจัดการเรียนการสอน ในปีการศึกษา 2564  ต่อไป

ปัจจุบันหมวดวิชาประวัติศาสตร์มีอาจารย์ประจำหมวดวิชาประวัติศาสตร์ 4 คน ทำหน้าที่รับผิดชอบสอนในรายวิชาเอกประวัติศาสตร์ท้องถิ่น รวมถึงการมีบทบาทในการให้บริการวิชาการและการบำรุงศิลปวัฒนธรรม รวมทั้งการค้นคว้าวิจัยเพื่อความก้าวหน้าพัฒนางานวิชาการด้านประวัติศาสตร์ท้องถิ่น

Department of Art History

ภาควิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ เกิดขึ้นจากการปรับปรุงโครงสร้างหลักสูตรของคณะโบราณคดีเมื่อ พ.ศ. 2517 ที่ได้เปิดสาขาวิชาที่หลากหลายขึ้น ภาควิชาประวัติศาสตร์ศิลปะจึงเป็นการขยายขอบเขตการศึกษาทางด้านโบราณคดีสมัยประวัติศาสตร์ออกมาในแง่การวิเคราะห์ตีความโบราณวัตถุสถานและกินระยะเวลามาจนถึงการศึกษางานช่างและศิลปกรรมในปัจจุบันด้วย

ผู้เป็นหลักในการเรียนการสอนของภาควิชาประวัติศาสตร์ศิลปะตั้งแต่ยุคเริ่มต้น ได้แก่ “ท่านอาจารย์” ศาสตราจารย์ หม่อมเจ้าสุภัทรดิศ ดิศกุล ซึ่งทรงนำทฤษฎีทางประวัติศาสตร์ศิลปะจากต่างประเทศ ได้แก่ อังกฤษและฝรั่งเศสมาเป็นพื้นฐานการเรียนการสอนของภาควิชาฯ โดยจัดให้มีการเรียนประวัติศาสตร์ศิลปะประเทศใกล้เคียง เป็นพื้นฐานก่อนที่จะเรียนศิลปะในประเทศไทยสมัยต่าง ๆ และตามมาด้วยศิลปะในซีกโลกอื่น ๆ

สองทศวรรษแรกของภาควิชาประวัติศาสตร์ศิลปะนั้น เป็นยุคสมัยเริ่มต้นในการปูพื้นฐานการค้นคว้าประวัติศาสตร์ศิลปะอย่างแท้จริง ด้วยมีคณาจารย์ที่สอนและทำงานวิจัยในวิชาประวัติศาสตร์ศิลปะตะวันออก ศิลปะตะวันออกไกล และศิลปะตะวันตก รวมไปถึงวิชาที่สำคัญได้แก่ ประติมานวิทยา เป็นต้น

คณาจารย์ที่สำคัญในยุคแรก ๆ ของภาควิชานอกจากศาสตราจารย์ หม่อมเจ้า สุภัทรดิศ ดิศกุล ได้แก่ ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.สันติ เล็กสุขุม, อาจารย์สมิทธิ ศิริภัทร, รองศาสตราจารย์มาลินี คัมภีรญาณนนท์, ผู้ช่วยศาสตราจารย์สุทธิลักษณ์ ไชยสุต, รองศาสตราจารย์วีรวรรณ มณี, อาจารย์ ดร.จิตติมา อมรพิเชษฐ์กูล

ปี พ.ศ. 2529 ภาควิชาฯ เปิดหลักสูตรในระดับปริญญาโท สาขาวิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ นับเป็นก้าวสำคัญที่ยกระดับการศึกษาค้นคว้าวิจัยจนเป็นที่ยอมรับในวงวิชาการมากขึ้น

และช่วงทศวรรษ 2530 นี้เองที่อาจารย์ในภาควิชาผลิตผลงานวิจัยออกมาเป็นจำนวนมาก เป็นการปูพื้นฐานทฤษฎีทางประวัติศาสตร์ศิลปะที่ผลิบานจากการค้นคว้าของนักปราชญ์รุ่นก่อนหน้า

ตั้งแต่ราว พ.ศ. 2540 เป็นต้นมา แม้ว่าศาสตราจารย์ หม่อมเจ้าสุภัทรดิศ ดิศกุล ทรงประชวร แต่ก็เริ่มมีอาจารย์รุ่นใหม่ ๆ เข้ามาสานต่อและขยายองค์ความรู้การค้นคว้าออกไป ซึ่งหลังจากการสร้างฐานการวิจัยทางประวัติศาสตร์ศิลปะอย่างเป็นระบบแล้ว ก็ยังมีการประยุกต์ใช้ข้อมูลทางประวัติศาสตร์ศิลปะให้เป็นประโยชน์ด้านอื่น ๆ ด้วย เช่น การท่องเที่ยว การอนุรักษ์งานศิลปกรรมโบราณ หรือการสร้างรูปแบบสันนิษฐานของโบราณสถานเพื่อความเข้าใจ

นอกจากนี้ รายวิชาที่เปิดสอนยังมีความหลากหลายมากขึ้น เป็นต้นว่า วิชาศิลปะอิสลาม ศิลปะเอเชียกลาง วัฒนธรรมทางสายตาร่วมสมัย รวมไปถึงการเรียนรู้วิธีปฏิบัติงานภาคสนามเพื่อเก็บข้อมูลศิลปกรรมอย่างเป็นระบบชัดเจน อีกทั้งในระยะนี้มีการกลับมาทบทวนวิธีคิดและค้นคว้ากำหนดอายุทางประวัติศาสตร์ศิลปะโดยนักวิชาการหลายท่าน

ใน พ.ศ. 2548 ได้เปิดหลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาประวัติศาสตร์ศิลปะไทย เพื่อพัฒนาการผลิตบุคคลากรสู่การค้นคว้าระดับปริญญาเอกด้านประวัติศาสตร์ศิลปะ

ปัจจุบัน ภาควิชาประวัติศาสตร์ศิลปะก็ยังคงมุ่งเน้นการค้นคว้าวิจัยอย่างต่อเนื่อง โดยนอกจากจุดประสงค์เพื่อผลิตบัณฑิตที่มีคุณภาพในด้านความรู้ทางประวัติศาสตร์ศิลปะแล้ว ยังสร้างผลงานทางวิชาการเพื่อพัฒนาความรู้ความเข้าใจในด้านนี้ออกมาอย่างไม่ขาดสาย

Department of Anthropology

สาขาวิชามานุษยวิทยา คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร หรือ มานุษยวิทยาวังท่าพระ เป็นสาขาวิชาที่มีจุดมุ่งหมายเพื่อให้ผู้ศึกษามีความรู้ความเข้าใจตนเอง เข้าใจสภาพแวดล้อมของสังคมและจิตใจมนุษย์ ทั้งในสังคมดั้งเดิมและสังคมสมัยใหม่ ตลอดจนให้มีความสามารถในการวิเคราะห์และตัดสินปัญหาได้อย่างมีเหตุผล สาขาวิชานี้มีการก่อร่างสร้างตัวเกิดขึ้นจากการเป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาทางด้านโบราณคดี ที่ต้องทำความเข้าใจมิติทางประวัติศาสตร์ สังคมและวัฒนธรรม โดยเฉพาะสิ่งที่เกี่ยวข้องกับเรื่องราวในอดีตซึ่งเป็นรากเหง้าของความเป็นชาติไทย โดยแบ่งพัฒนาการเป็น 4 ยุค คือ

1. ยุคมานุษยวิทยาโบราณคดี (พ.ศ. 2517)

ในระยะแรกคณะโบราณคดีมีการสอนเฉพาะวิชาโบราณคดี แต่งานศึกษาในเรื่องสังคมวัฒนธรรมก็ปรากฏอยู่แล้ว ต่อมาใน พ.ศ. 2514 เริ่มมีโครงการจัดตั้งภาควิชามานุษยวิทยา จนกระทั่ง พ.ศ. 2517 ได้ก่อตั้งภาควิชามานุษยวิทยาอย่างเป็นทางการในมหาวิทยาลัยศิลปากร วังท่าพระ โดยมีรองศาสตราจารย์ศรีศักร วัลลิโภดม และศาสตราจารย์ปรานี วงษ์เทศ เป็นผู้ริเริ่มวางแนวทางและหลักสูตรภาควิชามานุษยวิทยาที่มีเป้าหมายเพื่อสนับสนุนการศึกษาทางด้านโบราณคดี ซึ่งงานศึกษาทางด้านประวัติศาสตร์และโบราณคดีเป็นลักษณะเด่นของมานุษยวิทยาวังท่าพระในยุคเริ่มต้น เช่น การเปิดวิชามานุษยวิทยามีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาด้านชาติพันธุ์วรรณนา การเก็บข้อมูลของชุมชนทั้งสังคมชาวไร่ชาวนา สังคมของกลุ่มชาติพันธุ์ที่กำลังเปลี่ยนแปลงจากกระแสการพัฒนาประเทศไปสู่ความทันสมัย แต่ระยะเริ่มต้นบุคลากรยังมีน้อย และยังไม่ได้เรียนมาโดยตรง จึงเชิญอาจารย์พิเศษจากภายนอกมาช่วยสอนและพัฒนาบุคลากรในภาควิชามานุษยวิทยา

2. มานุษยวิทยายุคบุกเบิก (คลาสสิค) พ.ศ. 2517-2527 ยุคก่อร่างสร้างภาควิชามานุษยวิทยาวังท่าพระ

แม้ว่าจะเปิดสอนหลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต สาขามานุษยวิทยา และรายวิชาทางด้านมานุษยวิทยาอย่างเต็มรูปแบบ แต่การทำวิทยานิพนธ์ที่เป็นงานทางด้านมานุษยวิทยาที่สังกัดภาควิชามานุษยวิทยาอย่างแท้จริงยังไม่ปรากฏ ส่วนใหญ่จะเป็นวิทยานิพนธ์ที่มีการศึกษาในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับสาขาวิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา ภายใต้ปริญญาศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาโบราณคดี จนกระทั่งในช่วง พ.ศ. 2522-2523 จึงเริ่มมีวิทยานิพนธ์ในสาขามานุษยวิทยาอย่างแท้จริง

3. มานุษยวิทยาช่วง พ.ศ. 2528-2539 ยุคที่เริ่มเปิดหลักสูตรปริญญาโทมานุษยวิทยาวังท่าพระ

หลักสูตรศิลปศาสตรมหาบัณฑิต (มานุษยวิทยา) เริ่มก่อตั้งใน พ.ศ. 2528 โดยในช่วงเริ่มต้นมีเป้าหมายที่จะผลิตบัณฑิตให้ครอบคลุมทั้ง 3 ด้าน คือ มานุษยวิทยาพัฒนาการ มานุษยวิทยาสายโบราณคดีการตั้งถิ่นฐาน และมานุษยวิทยาสายประเพณีการบอกเล่า หรือมานุษยวิทยาสังคมวัฒนธรรม

นอกจากนั้นภาควิชาฯ ยังได้ผลิตอาจารย์จากนักศึกษาระดับปริญญาโทจากสาขามานุษยวิทยา เพื่อสืบทอดเจตนารมณ์และเนื้อหาการเรียนการสอนแบบดั้งเดิมที่เน้นให้ความสำคัญกับงานทางด้านวัฒนธรรม ชาติพันธุ์ และคติชนวิทยาด้วย

4. มานุษยวิทยาแนวหลังสมัยใหม่ พ.ศ. 2540 ถึงปัจจุบัน

การศึกษาหลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิตแม้ว่าจะเน้นในการเรียนสาขามานุษยวิทยาสังคมวัฒนธรรม แต่ในเนื้อหาของการเรียนการสอนก็มุ่งศึกษาและทำความเข้าใจเนื้อหาของมานุษยวิทยาครอบคลุมถึงสาขาอื่น ๆ ทั้งเรื่องเศรษฐกิจ การเมือง มานุษยวิทยากายภาพ เป็นต้น และในแง่งานสารนิพนธ์ของนักศึกษาเริ่มนำเอาทฤษฎีหลังสมัยใหม่มาสอนในรายวิชา และนักศึกษาส่วนหนึ่งได้นำเอาไปใช้เป็นแนวคิดและทฤษฎีในการวิเคราะห์ปรากฏการณ์ทางสังคมที่ตัวเองพัฒนาเป็นหัวข้องานศึกษาในรายวิชาศึกษาค้นคว้าเฉพาะบุคคล

Department of France

นับตั้งแต่คณะโบราณคดีถูกตั้งขึ้นเป็นคณะวิชาหนึ่งของมหาวิทยาลัยศิลปากร และในสมัยศาสตราจารย์หม่อมเจ้าสุภัทรดิศ ดิศกุล เป็นคณบดี ภาษาฝรั่งเศสมีบทบาทเป็นวิชาเลือกวิชาหนึ่ง เพื่อเป็นเครื่องมือใช้อ่านและศึกษาค้นคว้าเอกสารภาษาฝรั่งเศสสำหรับการเรียนวิชาโบราณคดีและประวัติศาสตร์ศิลปะ ซึ่งมีอยู่เป็นจำนวนมาก โดยมีศาสตราจารย์ คุณหญิงไขศรี ศรีอรุณ เป็นผู้รับผิดชอบ

ต่อมาใน พ.ศ. 2517 มีการจัดตั้งสาขาวิชาภาษาฝรั่งเศสเป็นสาขาหนึ่งของภาควิชาภาษาตะวันตก เมื่อคณะได้ปรับปรุงหลักสูตรและมีการแยกเป็น 7 ภาควิชา

หลักสูตรวิชาภาษาฝรั่งเศสในระยะแรกนั้น เน้นหนักรายวิชาที่เกี่ยวกับทักษะการใช้ภาษา (อ่าน ฟัง พูด คิด เขียน) ภาษาศาสตร์ อารยธรรม วรรณคดี การแปล ฯลฯ

ต่อมามีการปรับปรุงหลักสูตรโดยเพิ่มวิชาเลือกที่เปิดโอกาสให้นักศึกษาเข้าสู่อาชีพได้มากขึ้น เช่น วิชาภาษาฝรั่งเศสด้านการท่องเที่ยว ภาษาฝรั่งเศสด้านการโรงแรม ภาษาฝรั่งเศสด้านเลาขานุการ ภาษาฝรั่งเศสด้านการสอน ภาษาฝรั่งเศสด้านศิลปะ เป็นต้น

และใน พ.ศ. 2549 – 2550 สาขาวิชาภาษาฝรั่งเศสเปิดหลักสูตรศิลปศาสตร มหาบัณฑิต สาขาวิชาภาษาฝรั่งเศสเพื่อการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม (Master of Arts in French for Cultural Tourism) โดยได้รับการสนับสนุนด้านการประชาสัมพันธ์ ด้านหนังสือ อุปกรณ์การสอนจากสำนักทูตวัฒนธรรมฝรั่งเศส สถานเอกอัครราชทูตฝรั่งเศส ประจำประเทศไทย ซึ่งเมื่อจบการศึกษาแล้วจะได้รับปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิตควบคู่กับประกาศนียบัตรมัคคุเทศก์ ซึ่งออกให้โดยการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา แต่หลังจากเปิดได้รุ่นเดียวก็ต้องระงับการดำเนินการไว้ชั่วคราว เนื่องจากประธานหลักสูตรเกษียณอายุราชการทำให้การบริหารหลักสูตรประสบปัญหาและจำนวนผู้สอนไม่ครบตามเกณฑ์ของสำนักงานกรรมการอุดมศึกษา (สกอ.)

หลังปี 2550 มีการปรับปรุงหลักสูตรให้หลากหลายยิ่งขึ้น เช่น จัดให้หมวดวรรณคดีเป็นหมวดวิชาเลือกร่วมกับหมวดวิชาภาษาศาสตร์ ในปีการศึกษา 2554

ปัจจุบันสาขาภาษาฝรั่งเศส มีการสอนภาษาฝรั่งเศสเฉพาะด้านที่เป็นลักษณะเฉพาะของคณะโบราณคดี เช่น ภาษาฝรั่งเศสด้านวิจิตรศิลป์ ศิลปะไทย ศิลปะเอเชียอาคเนย์ การจัดการด้านวัฒนธรรม เป็นต้น เพื่อให้ผู้เรียนมีความรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมไทย รวมทั้งความสัมพันธ์ระหว่างไทย-ฝรั่งเศส เกิดการศึกษาเชิงเปรียบเทียบ และนำมาสร้างสรรค์เพื่อปรับใช้ได้อย่างเหมาะสมในสังคมไทย